สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์จัดกิจกรรม Kick Off การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” รอบ 2 จังหวัดอุตรดิตถ์
เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่บริเวณจวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ถนนประชานิมิตร ต.ท่าอิฐ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดกิจกรรม Kick Off การน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” รอบ 2 จังหวัดอุตรดิตถ์
โดยมี นายพิภัช ประจันเขตต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ นายจรัล กาญจนปัญญานนท์ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ นายพยงค์ ยาเภา หน.สนง.จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสาวนิตยาวรรณ เลื่อนลอย พัฒนาการจังหวัดอุตรดิตถ์ นางพิสมนต์ มงคลเทพ พาณิชย์จังหวัดอุตรดิตถ์ นางสุชญา การงาน คลังจังหวัดอุตรดิตถ์ น.ส.พัฒน์นรี กมลสุรเชษฐ พลังงานจังหวัดอุตรดิตถ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ผอ.กลุ่มงาน สนง.พัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์และพัฒนาการอำเภอทั้ง 9 อำเภอ ผู้นำอช.และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 และน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการแผนปฏิบัติการ 90 วัน“ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” และในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยรณรงค์ให้มีการปลูกผักสวนครัวทุกครัวเรือน ทั่วประเทศ เน้นการพึ่งตนเองและความสามัคคีของคนในชุมชน และเพื่อต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ให้มีความยั่งยืน
ในรอบแรก ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2563 จังหวัดอุตรดิตถ์ มีครัวเรือนที่ร่วมปลูกผักสวนครัวทั้งจังหวัด จำนวน 109,290 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 99.77 ทำให้ประชาชนมีผักปลอดสารพิษที่ปลูกไว้รับประทาน เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย และสามารถประหยัดรายจ่ายในครัวเรือนได้เพื่อเป็นการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานโครงการปลูกผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความยั่งยืน กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดให้มีการขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยมีเป้าหมายดำเนินการทุกหมู่บ้าน ทุกครัวเรือนในประเทศไทย ให้รับรู้และเกิดการมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคง ทางอาหาร และมีแผนการดำเนินงาน 6 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ ๑“ผู้นำต้นแบบ ตัวอย่างที่เห็นจริง” มีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ และเจ้าหน้าที่สังกัดกรมการพัฒนาชุมชน ปลูกผักสวนครัวอย่างน้อย คนละ 10 ชนิด เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ประชาชน ขั้นตอนที่ 2 “ผู้นำต้องทำก่อน” เชิญชวนให้ผู้นำชุมชน กลุ่ม องค์กร เครือข่าย สร้างกระแสการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ขั้นตอนที่ 3 “นักพัฒนา 3 ประสาน กลไกขับเคลื่อนปฏิบัติการ 90 วัน” ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างทีมนักพัฒนา 3 ประสานในระดับตำบล (นักพัฒน์ท้องถิ่น พัฒนากร/นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ และนักพัฒนาภาคประชาชน) เพื่อขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวอย่างต่อเนื่อง ขั้นตอนที่ ๔ “ทุกครัวเรือน คือ คลังอาหาร ทุกหมู่บ้าน คือ ศูนย์แบ่งปัน” รณรงค์ให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัว ทุกหมู่บ้านสร้างคลังอาหารชุมชน แลกเปลี่ยนผลผลิต/แบ่งปันให้ผู้ยากไร้ในชุมชน รวมถึงจัดตั้งศูนย์แบ่งปันเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ขั้นตอนที่ 5 “ทักษะชีวิตวิถีใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น” ส่งเสริมให้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษา ศาสนสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว ขั้นตอนที่ 6 “ถอดรหัสการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ในการสร้าง ความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน” ประเมินผลความสำเร็จของโครงการ และถอดบทเรียนการขับเคลื่อนของแต่ละอำเภอ/จังหวัด รวมถึงมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ชนะ การประกวดหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ
ณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ ภาพ/ข่าวอุตรดิตถ์