พิจิตรม็อบเครือข่ายกองทุนฟื้นฟูขอปลดหนี้เดินทางไปชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง
สหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ( สกท.) ปลุกสมาชิกเครือข่ายนัดเดินทางเข้ากรุงเทพเป้าหมายปักหลักชุมนุมเรียกร้องหน้ากระทรวงการคลัง จี้ขอมติ ครม.แนวทางและเงื่อนไขในการแก้ไขปัยหาหนี้สินเกษตรกร ซึ่งเป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ คาดสมาชิกทั่วประเทศร่วมชุมนุมนับแสนคนขนเสบียงปักหลักค้างแรม ไม่ได้รับคำตอบ ไม่ชนะ ไม่กลับบ้าน
วันที่ 21 ก.พ. 2564 เมื่อเวลา 22.00 น. นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ทราบเรื่องว่า มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ( สกท.) ที่มีสมาชิกอยู่ในจังหวัดพิจิตรจะมีการรวมตัวกันไปชุมนุมเรียกร้องที่บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง จึงได้สั่งการให้ นายสุพจน์ รัตนรุ่งเรือง รักษาราชการแทนนายอำเภอโพทะเล , นายเขม คงสินชัย ป้องกันจังหวัดพิจิตร , พ.ต.ท.อิทธ์ฉัตรชัย เรืองชัยศิวเวท รอง ผกก.สส.สภ.โพทะเลพร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงเดินทางไปที่ วัดอินทร์พรหมใย หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งน้อย อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ในช่วง 21.30 น. เพื่อสังเกตการณ์ โดยได้พบกับ นางสาวนปภา พูนหมี “หนึ่ง” อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/9 หมู่ 1 บ้านท่าโพ ต.ทุ่งน้อย อ.โพทะเล เลขาสหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ( สกท.) ซึ่งยอมรับว่าเป็นแกนนำที่จะพาสมาชิกเคือข่ายกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรจากจังหวัดพิจิตร จำนวนประมาณ 250 คน เดินทางด้วยรถบัส 5 คัน และรถกระบะอีก 2-3 คัน มีเป้าหมายจะไปสมทบกับสมาชิกที่ระดมกันมาจากทั่วประเทศ รวมแล้วน่าจะหลายหมื่นคน โดยจะไปชุมนุมกันที่หน้ากระทรวงการคลัง ซึ่งมี นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล ที่ปรึกษาเครือข่ายสหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย และเป็น รองประธานกรรมการบริหารฯ กองทุนฟื้นฟูแห่งประเทศไทย และทีมรอที่จะมาสมทบและเคลื่อนไหวในเช้าวันจัยทร์ที่ 22 ก.พ. 2564 เพื่อประกาศข้อเรียกร้องขอความอนุเคราะห์จากคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ 1 / 2564 เมื่อวันที่ 28 มกราคา 2564 เรื่องแนวทางและเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกฯ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ทั้งนี้สืบเนื่องจากสมาชิก 6 แสนราย ยอดเงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลแล้ว ครม.มีมติสั่งการ ธกส.ให้ปฏิบัติตามมติในที่ประชุม แต่ปรากฏว่า ธกส.ออกหนังสือมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 เรื่องแจ้งมติคณะกรรมการธนาคาร ธกส. เรื่องแนวทางและเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกฯ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ว่า คณะกรรมการ ธกส.การประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 มีมติที่ประชุมว่า การที่เกษตรกรจะขอลดเงินต้น 50% และให้ธนาคารของรัฐที่เป็นเจ้าหนี้ยกเว้นดอกเบี้ยให้ทั้งหมด จะส่งผลกระทบต่อวินัยทางการเงินของเกษตรกรลูกค้า ฐานะทางการเงินของ ธกส. ความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ความกังวลสาธารณะ และความมั่นคงของสถานบันการเงินโดยรวม และอาจขยายวงกว้างไปยังเกษตรกรทั้งระบบ ทั้งนี้ ธกส.จะดำเนินการเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว และให้ ธกส. ได้รับการชดเชยจากรัฐบาลเต็มจำนวนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้นจึงขอความร่วมมือในการเสนอโครงการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟู ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้มีการขออนุมัติชดเชยเงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่ ธกส.สูญเสีย ทั้งจำนวนจากรัฐบาลด้วย เพื่อความรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก ซึ่งหนังสือดังกล่าวลงนามโดย นายภานิต ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการ ทำการแทน ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ซึ่งจากหนังสือและข้อความดังกล่าวทำให้สมาชิกฯ กองทุนฟื้นฟู มีความไม่พอใจที่ธนาคาร ธกส. ไม่ปฏิบัติตามมติ ดังนั้นเหล่าสมาชิกสหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ( สกท.) จากทั่วประเทศจึงได้นัดหมายกันมารวมตัวชุมนุมที่หน้ากระทรวงการคลัง โดยแต่ละจังหวัดต่างเริ่มเดินทางออกจากบ้านกันตั้งแต่ค่ำคืนนี้ เป้าหมายนัดชุมนุมตอนเช้าหน้ากระทรวงการคลังเพื่อยื่นข้อเสนอและการเจรจาให้ ครม. และตัวแทนของรัฐบาลคุยกับ ธนาคาร ธกส. ให้ได้ข้อยุติและนำเข้าพิจารณาใน ครม. ให้ได้คำตอบในวันอังคารที่ 23 ก.พ. 2564 หากเกษตรกรไม่ได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจก็จะขอชุมนุมปักหลักค้างแรมต่อไป
สำหรับสมาชิกสหพันธุ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ( สกท.) จากจังหวัดพิจิตร มีการเดินทางมาร่วมชุมนุมที่กระทรวงการคลัง กลุ่มแรกเคลื่อนตัวจากตำบลทุ่งน้อย อำเภอโพทะเล จำนวน 250 คน ใช้รถบัส 5 คัน และรถกระบะ 3-4 คัน บรรทุกเสบียงเครื่องครัวอาหารสด อาหารแห้ง กลุ่มที่สอง เคลื่อนตัวจากตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก ใช้รถบัส 1 คัน รถตู้ 4 คัน รวมสมาชิกประมาณ 100 คน และใช้รถกระบะอีก 4-5 คัน บรรทุกมะม่วง แตงโม มะละกอ และของกินที่เป็นพืชผักสวนครัวไปเป็นเสบียงในการเตรียมความพร้อมการชุมนุมแบบค้างแรมที่ประกาศว่า ไม่ชนะไม่กลับบ้าน
สิทธิพจน์ พิจิตร