กาญจนบุรี ชาว ต.ห้วยกระเจาลุ้นอีก 1 บ่อ หลัง อธิบดีศักดา วิเชียรศิลป์ สั่งเร่งขุดเจาะหาแหล่งน้ำบาดาลเพิ่ม ที่ความลึก 650 เมตร ลุ้นอีก 1 เดือน พุหรือไม่พุ เพราะเป็นแนวเดียวกับ 2 บ่อ แรก
จากกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)มอบหมายให้นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งการให้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งดำเนินงานตามโครงการศึกษา สำรวจ และรูปแบบการพัฒนาน้ำบาดาลจากแหล่งน้ำกักเก็บในหินแข็งระดับลึกในพื้นที่ธรณีวิทยาโครงสร้างซับซ้อน เพื่อหาแหล่งน้ำบาดาลมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาว ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 30 ปี
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ จึงได้มอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศัยภาพน้ำบาดาล น.ส.อัคปศร อัคราช ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนางานสำรวจน้ำบาดาล นายทะนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 2 (สุพรรณบุรี) พร้อมทีมงาน ลงพื้นที่สำรวจในภาคสนามอย่างเข้มข้นเป็นเวลากว่าหนึ่งสัปดาห์ สามารถสำรวจพบแนวรอยแตกที่ซ่อนอยู่ข้างล่าง ในชั้นหินแปร จำพวกหินควอตซ์ไซต์ ซึ่งแนวรอยแตกดังกล่าว มีโครงสร้างคล้ายเส้นท่อขนาดใหญ่ ที่ไขว้กันไปมา ในหลายระดับความลึกและมีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ยาวมากกว่า 23 กิโลเมตร
และในที่สุดโครงการดังกล่าวก็ประสบความสำเร็จ เมื่อเจ้าหน้าที่สามารถเจาะพบน้ำบาดาลที่มีปริมาณน้ำใต้ดินเป็นจำนวนมหาศาล และที่สำคัญน้ำที่พุพวยพุ่งขึ้นมามีรสชาติหวานและซ่าคล้ายโซดา สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยทั้งประเทศ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น แต่อย่างไรก็ตามนายศักดิ์ วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมน้ำบาดาล ยังได้มอบหมายให้นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและประเมินศัยภาพน้ำบาดาล เร่งสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มเติมจากที่ได้แล้วจำนวน 3 บ่อ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการเจาะบาดาลเพิ่มเติมในพื้นที่บ้านทุ่งคูณ หมู่ 19 ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา
ล่าสุดวันนี้ 04 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเกรียงศักดิ์ ภิระไร ผอ.สำนักสำรวจและประเมินศักยภาพน้ำบาดาล เปิดเผยที่บริเวณหน้างานเจาะบาดาล ว่า ท่อนที่ใช้เจาะบาดาลมีความยาวท่อนละ 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว แต่ละท่อนมีน้ำหนักเกือบ 200 กิโลกรัม ศักยภาพความสามารถของรถเจาะสามารถเจาะได้ที่ความลึก 650 เมตร ซึ่งเราเตรียมท่อนเจาะเอาไว้กว่า 100 ท่อน จากสภาพหินด้านล่างที่แข็งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ
และเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องเจาะที่ความลึกเทาไหร่ และรู้ได้อย่างไรว่าจุดที่เจาะนั้นจะพบน้ำบาดาล เบื้องต้นเราต้องมาดูธรณีโครงสร้างก่อน พบว่าพื้นที่ธรณีโครงสร้างรองรับด้วยหินแปร ปรกติถ้าพบหินแปรแต่ไม่มีรอยแตกก็จะไม่มีน้ำบาดาล
และจะรู้ได้อย่างไรว่าหินแปรนั้นมีรอยแตก โดยเราใช้เครื่องมือสำรวจธรณีฟิสิกส์มาตอกหลักแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไป เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าลงไปเราก็จะวัดค่าความต่าง แล้วเอามาคำนวณเป็นค่าความต้านทานจำเพาะที่ความลึกทุกๆ 5 เมตร 10 เมตร ไปจนถึง 300-400 เมตร บริเวณไหนที่มีความแข็งของหิน ค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะมันก็จะสูง บริเวณไหนที่มีรอยแตกของหินค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะก็จะต่ำ ส่านบริเวณไหนที่มีรอยแตกและมีน้ำบาดาลสะสมอยู่ค่าความต้านทานไฟฟ้าจำเพาะก็จะต่ำกว่าบริเวณที่อยู่ข้างเคียง
ซึ่งเราจะทำเป็นแนวเดียวกันในหลายๆจุด เมื่อเสร็จแล้วเราจะมาประมวลผลเป็นภาพตัดขวาง โดยให้นึกภาพเหมือนกับการที่เราผ่าโลกออกมาดูว่าที่ความลึกแต่ละระดับนั้นมีชั้นดินหรือชั้นหินอะไร มีรอยแตกหรือไม่ แล้วรอยแตกมีค่าความต้านทานไฟฟ้าเป็นอย่างไร ถ้ามีค่าความต้านทานไฟฟ้าต่ำมันอาจจะเป็นน้ำบาดาลหรืออาจจะเป็นดินเหนียว และทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับลักษณะธรณีวิทยาที่อยู่ด้านล่าง และต้องอาศัยประสบการณ์ของนักธรณีวิทยาหรือนักอุทกธรณีวิทยาในการประมวลผลเพื่อแปลความหมายแล้วมากำหนดจุดเจาะบาดาล แต่จะให้รู้อย่างแน่นอนก็คือการลงมือเจาะ ที่เราเห็นอยู่นี้คือการเจาะสำรวจ
สมมติว่าบริเวณนี้เรากำลังเจาะสำรวจที่ความลึกประมาณ 400 เมตร ซึ่งขณะนี้เราเจาะไปแล้วที่ความลึก 158 เมตร ซึ่งเราได้รับรายงานจากหน่วยเจาะว่าที่ความลึกประมาณ 80 เมตรมีรอยแตกและมีน้ำบาดาลสะสมอยู่ แต่มีปริมาณน้ำบาดาลที่ไม่มาก มีแค่ประมาณ 20 คิวหรือประมาณ 2,000 ลิตรต่อชั่วโมง ซึ่งน้ำปริมาณนี้ถ้าจะสูบขึ้นมาใช้ในครัวเรือนก็เพียงพอ แต่ไม่สามารถที่จะนำไปทำระบบสูบส่งขนาดใหญ่ได้
ดังนั้นรถคันนี้มีความสามารถที่จะเจาะให้ลึกลงไปได้มากถึง 650 เมตร ซึ่งเราเพิ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เราจึงจะเจาะให้สุดความสามารถของรถเจาะบาดาลคันนี้ เพื่อที่จะทำการพิสูจน์ชั้นธรณีวิทยาที่อยู่บริเวณนี้ และต้องการพิสูจน์ศักยภาพของรถคันนี้ด้วย
บริเวณที่เจาะบาดาลแล้วเจอน้ำพุบาดาลโซดา และจุดที่กำลังเจาะมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งพบว่าธรณีวิทยามีลักษณะที่ใกล้เคียงกันแต่บริเวณที่พุมีรอยแตกมากกว่าและมีน้ำไหลเข้าไปสะสมมากกว่าบริเวณนี้ แต่ต้องรอให้เราเจาะให้ถึงจุดเสียก่อนเพราะขณะนี้เราเพิ่งเจาะได้เพียงแค่ 158 เมตร เท่านั้นจึงยังไม่สามารถตอบได้ว่าน้ำบริเวณนี้จะพุหรือไม่พุ หรือรอให้เจาะถึงระดับประมาณ 300-400 เมตรก่อนเราจึงจะสามารถนำมาเทียบเคียงกันได้./
///////////////////////////////////////
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี