ศรีสะเกษ !! กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสานวอนรัฐบาลคลายล็อคผ่อนปรนการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อขอฝน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระดับรากหญ้า

ศรีสะเกษ !! กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสานวอนรัฐบาลคลายล็อคผ่อนปรนการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อขอฝน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระดับรากหญ้า

ศรีสะเกษ !! กลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสานวอนรัฐบาลคลายล็อคผ่อนปรนการจัดประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อขอฝน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวระดับรากหญ้า
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 64 ที่ทำการกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสาน ถนนทองมาก ต.โพธิ์ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายพนม พรมประเสริฐ ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสาน เปิดเผยว่า ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญของภาคอีสานของประเทศไทย ที่เกิดขึ้นจากความเชื่อของชาวบ้านทางภาคอีสาน ที่เชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน ให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล บุญบั้งไฟนิยมทำกันในเดือนหก ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ขาดไม่ได้ ตั้งแต่โบราณ จนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานมีความเชื่อว่า ถ้าปีใดไม่จัดงานบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งไม่มีน้ำทำนา แต่ถ้าปีใดจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ฟ้าฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล เกิดความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัย งานบุญบั้งไฟจึงถือเป็นงานประเพณีประจำปีที่สำคัญจนเป็นมรดกและวัฒนธรรมของชาวอีสานจนถึงปัจจุบันนี้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด – 19) รัฐบาลได้มีการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ห้ามมีการจัดงานประเพณีต่าง ๆ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานไม่สามารถดำเนินการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟได้ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่าสาเหตุที่ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และเกิดฝนแล้งทำการเกษตรไม่ใด้ผล ก็เนื่องมาจากไม่ได้จุดบั้งไฟถวายพญาแถนขอฝน ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติมา
นายพนม พรมประเสริฐ ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสาน เปิดเผยต่อไปว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟของภาคอีสานให้คงอยู่สืบไป ดังนั้น เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วย นายวิริยะ อินพานิช ที่ปรึกษากลุ่มและสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสานทุกจังหวัด ได้เดินทางไปที่กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ และที่กระทรวงมหาดไทยเพื่อไปยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล คลายล็อคผ่อนปรนการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน โดยที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าพบกับ นายพิกิฏ ศรีชนะ เลขานุการ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม และมีนายสตวัน ฮ่มซ้าย ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบปัญหาและความต้องการของกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟภาคอีสาน ซึ่ง เลขานุการ รมว.กระทรวงวัฒนธรรมได้รับทราบแล้ว และแจ้งว่า เรื่องการจัดบุญประเพณีบุญบั้งไฟนี้ ยังติดล็อคอยู่ที่ ศคบ. กระทรวงวัฒนธรรมไม่สามารถอนุมัติได้ ซึ่งจะได้เสนอเรื่องนี้ให้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรมทราบ เพื่อจะได้เสนอเรื่องขอปลดล็อคเรื่องนี้ไปยัง ศคบ.เพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป
นายพนม พรมประเสริฐ เปิดเผยด้วยว่า ในปัจจุบันปัญหาโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด -19) ได้คลี่คลายลงระดับหนึ่ง ประกอบกับวิธีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ มีการจัดงานกลางแจ้ง สภาพอากาศที่ร้อนมีอากาศถ่ายเท มีการเว้นระยะห่าง อยู่ในตัวอยู่แล้ว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาเที่ยวชมประเพณีบุญบั้งไฟ จะเป็นประชาชนในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ไม่มีความเสี่ยงกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) และทางหมู่บ้าน ชุมชนที่จะจัดงานบุญบั้งไฟ ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ,รพ.สต., อสม. เป็นผู้คัดกรองการเข้างานอย่างเข้มงวด การจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ ยังถือว่าเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น เกิดความสมัครสมานสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ชุมชน และสืบทอดแก่เยาวชนคนรุ่นหลังต่อไป มาตรการกระตุ้นเศฐกิจรากหญ้าและชุมชน ก่อให้เกิดการจ้างงานในกระบวนการผลิตบั้งไฟ เช่น งานตัดไม้เผาถ่าน งานตัดไม้ทำหางบั้งไฟ งานผสมดินปืน งานจ้างไปจุดบั้งไฟ เป็นต้น เป็นการกระตุ้นเศฐกิจรากหญ้าในวงกว้าง เช่น เกิดการค้าขายของคนในชุมชน เช่น ร้านค้าอาหาร ต่าง ๆ ไก่ย่าง ส้มตำ อาหารตามสั่ง เกิดการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรที่มีในพื้นที่ ที่ปลูกเองและมีตามธรรมชาติ ดังนั้น ประชาชนในเขตพื้นที่ภาคอีสาน พวกตนจึงขอวอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รมต.และคณะรัฐมนตรี รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขอได้โปรดพิจารณาคลายล็อคผ่อนปรนการจัดกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีบุญบั้งไฟในเดือนหก ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน – 24 กรกฎาคม 2564 ที่จะถึงนี้ด้วย
************


ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม