เชียงราย UNช่วยเหลือชาวบ้านไร้สถานะทางทะเบียน ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล พ้นภัยโควิด
ที่บ้าน เฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย นายไกรทอง เหง้าน้อย ผู้จัดการโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 โดยมูลนิธิพัฒนาชุมชน และเขตภูเขา(พชภ.) นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามโครงการ เสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 โดยกลุ่มชาวบ้านดังกล่าวเป็นผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเยี่ยวจากผลกระทบของไวรัสโควิด -19 ของรัฐบาลไทย
โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ผ่าน UNDP โดยมีการแบ่งจัดสรรไปตามชุมชนต่างๆทั่วประเทศ 24 แห่ง โดยจะเน้นไปที่หมู่บ้านที่มีผู้ไร้สถานะทางทะเบียน ที่ไม่เข้าข่ายรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลในช่วงโควิด -19 ระบาด โดยโครงการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มคนไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด19 ได้ลงพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นทางอาหารด้วยระบบนวัตกรรมเกษตรยั่งยืน ชุมชนบนพื้นที่สูง
นายไกรทอง เหง้าน้อย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ด้วยมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งประเทศพม่า ประเทศลาว และมีการเข้ามาของคนจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไว้หลายระดับ แต่กลุ่มคนชายขอบ กลุ่มคนที่ไร้สัญชาติ คนเหล่านี้ไม่ได้รับการเยียวยา จากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความเสี่ยงรอบด้าน เพียงเพราะไม่มีบัตรแสดงสถานะบุคคลที่เป็นคนไทย จากข้อมูลจำนวนประชากรคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครองปี 2562 พบว่าในจังหวัดเชียงราย มีจำนวน 96,960 คน โดยแยกออกเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 10% กลุ่มเด็กเยาวชนอายุ18 ปี คิดเป็น18% อายุ18-60 ปี คิดเป็น71% แบ่งเป็นผู้หญิง 54% ผู้ชาย46% จึงเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางเป็นอย่างมากต่อสถานการณ์โควิด19 ระบาด มีความจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาและเสริมศักยภาพให้สามารถปรับตัวอยู่ได้ภายใต้สถานการณ์โควิดในระยะยาว
“โครงการพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ของครอบครัวผู้ไร้สัญชาติใน 4 ชุมชนหลักเพื่อเป็นต้นแบบ เพื่อให้กลุ่มผู้ไร้สัญชาติสามารถปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยมีแหล่งผลิตอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และช่องทางที่สามารถสร้างรายได้ โดยโครงการดังกล่าวเป็น 1 ใน 24 โครงการระยะสั้น ภายใต้โครงการ “การเสริมสร้างการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสังคม ความมั่นคงของมนุษย์และการฟื้นคืนสู่สภาพปกติในประเทศไทยในบริบทของการระบาดใหญ่ของ COVID-19″ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังและปกป้องความคืบหน้าเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(UNDP) ประจำประเทศไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลญี่ปุ่น” นายไกรทอง กล่าว
โดยโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการใน 4 หมู่บ้าน ชุมชนชาติพันธุ์ ธุ์ลาหู่ ลีซู อาข่า ได้แก่บ้านป่าคาสุขใจ บ้านพนาสวรรค์ บ้านจะบูสี ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง และบ้านเฮโก ต.ป่าตึง อ.แม่จัน จ.เชียงราย โดยได้มอบปัจจัยการผลิตที่เป็นความต้องการของชุมชนและเหมาะสมกับการทำเกษตรบนพื้นที่สูงที่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และแหล่งน้ำ เช่นการเลี้ยงไก่กระดูกดำ การเลี้ยงหมูดำ หมูหลุม และการปลูกพืชผักอาหาร รวมทั้งการปลูกผลไม้ยืนต้น ให้สามารถสร้างแหล่งอาหารในครัวเรือนได้และเป็นแนวทางสร้างรายได้ในระยะยาวได้
นายอาหลู งัวยา ผู้นำหมู่บ้านเฮโกซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู กล่าวว่า ชุมชนได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ในเรื่องการเลี้ยงหมู เพื่อใช้เป็นอาหารในครอบครัว และเพื่อจำหน่ายได้ โดยในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาชิกในชุมชนยังไม่ค่อยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐตามมาตการต่างๆที่ออกมาเท่าที่ควร เพราะบางส่วนไม่มีบัตรประชาชน บางส่วนไม่มีโทรศัพท์และบางส่วนทำไม่เป็น การที่ พชภ.และ UNDP เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก การเลี้ยงหมูจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า เนื่องจากอาหารหลักที่ใช้เลี้ยงหมูคือต้นกล้วย ที่ผ่านมาชาวบ้านบางส่วนได้ปลูกข้าวโพดและใช้สารเคมีทำให้กลายเป็นภูเขาหัวโล้น แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกต้นกล้วยแทนทำให้ผืนดินเกิดความชุ่มชื้นเพราะต้นกล้วยสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ดี ทำให้พืชอื่นๆเจริญเติบโตด้วยโดยเฉพาะไม้ผลต่างๆ ทั้งมะม่วง อาโวคาโด ลิ้นจี่ ทุเรียน โดยหมู่บ้านเฮโกเป็นแหล่งต้นน้ำ การส่งเสริมการเลี้ยงหมูจึงเป็นการส่งเสริมให้ฟื้นฟูต้นไม้ใหญ่ในแหล่งต้นน้ำด้วย
ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย