กำแพงเพชร-ทึ่งพบฝูงวัวแดงร่างกายสมบูรณ์ กว่า 60 ตัว แฮปปี้เพลินใจลงแทะเล็มหญ้าบริเวณโป่งช้างเผือก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ส่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าตะวันตก หลังปิดป่าช่วงระวังเชื้อระบาดโควิค-19
จากกรณีที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง สามารถบันทึกภาพฝูงวัวแดงกว่า 40 ตัว ออกมาหากินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกใบอ่อนระบัดขึ้นมาใหม่ ณ บริเวณหอดูสัตว์หอนกยูง (โป่งช้างเผือก) ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ไปแล้วนั้น เมื่อเวลา 20.00น.วันที่ 12 พ.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 พร้อมนายพงษ์สิทธิ์ ศรีคำเมือง ผู้ช่วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ นายอาทิตย์ นิมา นักถ่ายภาพพัฒนาเมืองนครสวรรค์ ร่วมกันลงพื้นที่โป่งช้างเผือก เพื่อบันทึกภาพเรื่องราวไว้ศึกษา เรียนรู้ การดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก แหล่งท่องเที่ยวศึกษาวิถีชีวิต ในช่วงปิดผืนป่าป้องกันโควิค-19 เมื่อช่วงเย็นวันที่ 11 พ.ค.64 ที่ผ่านมา ที่บริเวณหอดูสัตว์หอนกยูง (โป่งช้างเผือก) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีความสูงประมาณ 8 เมตร มีชั้นให้นั่งส่องสัตว์ 3 ชั้น พบ ฝูงวัวแดงฝูงใหญ่กำลังแทะเล็มหญ้าอยู่อย่างเอร็ดอร่อย ในระยะใกล้ๆ
ทางคณะจึงรีบบันทึกภาพ ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ถ่ายภาพ ถึงแม้นฝนจะตกปอยๆแต่ฝูงวัวก็ยังเดินเล่นอวดโฉม จากการสังเกตมีฝูงวัวแดง 2 ฝูง ฝูงแรกประมาณ 45 ตัว เดินแทะเล็มหญ้าเลียบคลองทับเสลา จากด้านทิศใต้ เดินขึ้นมาทางทิศเหนือ ส่วนวัวแดงอีกฝูงหนึ่ง ประมาณ 15 ตัว หากินอยู่ทางด้านทิศเหนือของโป่งช้างเผือก กระจายตัวหากินอยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน รวมประมาณ 60 ตัว เดินไปหยอกล้อเล่นกันไป บางตัวกำลังดูดกินนมแม่วัวแดง บางตัวก็หัวผึ่ง จ้องมาที่หอโป่งช้างเผือก เพราะรู้ว่ามีคนอยู่บนหอ แต่เมื่อเห็นว่าไม่มีอันตราย ก็เดินกินหญ้าต่อ บางตัวที่หนุ่มวัยรุ่นหน่อย ก็เอาหัวชนกันเล่นๆสนุกสนุกสนาน บางตัวก็ลงห้วยหาน้ำกิน บางตัวก็ลงโป่งกินน้ำและดินโป่ง ดูการใช้ชีวิตของวัวแดงฝูงนี้มีความสุขมาก ทั้งนี้สังเกตได้ว่า วัวแดงแต่ละตัวมีร่างกายที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่มีตัวไหนผอมแห้งเห็นโครงกระดูก บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ วัวแดงหรือวัวป่า ที่พบมีทั้งวัวแดงแก่ วัวแดงโตเต็มวัย วัยรุ่น และลูกๆ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสืบต่อพันธุ์ที่ดีมาก มีอายุยืนยาวถึง 30 ปี โดยมีลักษณะต่างกับวัวบ้านและกระทิง ซึ่งสังเกตถ้ามีวงที่ก้นสีขาวทั้งตัวผู้และตัวเมีย มีเส้นสีขาวรอบๆจมูก ขาทั้ง4ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ระหว่างโคนขาตัวผู้จะไม่มีขน มีลำตัวรวมหัวยาวประมาณ 2.00 เมตรถึง 2.50 เมตร สูงประมาณ1.50เมตร น้ำหนักตัวประมาณ 800 กิโลกรัม บางตัวหนักถึง 1 ตัน ( 100 กิโลกรัม ) ชอบหากินเป็นฝูงๆตอนช่วงพลบค่ำไปถึงรุ่งเช้าวันใหม่ นอกจากนั้น ยังพบ หมูป่า เก้ง กวางป่า นกยูง และสัตว์ป่าอื่น อีกหลายชนิด ลงมาใช้พื้นที่โป่งช้างเผือกแห่งนี้
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 กล่าวว่า วัวแดง (Bos javanicus) จัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : EN) ตามรายงานการประเมินสถานภาพของ IUCN วัวแดง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันมีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสัตว์ป่าใหญ่ที่ต้องอนุรักษ์ เช่น วัวแดง ควายป่า เสือโคร่ง ที่ได้รับการคุ้มครอง ให้คงความอุดมสมบูรณ์ สืบส่งต่อไปสู่รุ่นลูก หลาน ในอนาคต
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นั้น ลำพังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จอย่างสมบูรณ์ได้ ผลความสำเร็จที่สำคัญต้องได้รับความร่วมมือ ร่วมใจจากประชาชนในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะชาวจังหวัดอุทัยธานี ทุกคน ที่ช่วยกันปกป้อง คุ้มครอง และไม่ทำร้ายสัตว์ป่า ทั้งที่ผ่านมา แม้มีหลายครั้งที่วัวแดงเข้าไปกัดกินพืชผลทางการเกษตร แต่ประชาชนก็ไม่ได้ทำร้ายวัวแดงแต่อย่างใด ด้าน นายนพดล พลเสน กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ภาพที่เห็นน่า ตะลึง และตื่นตาตื่นใจคล้ายๆ กับที่ซาฟารีในแอฟริกาใต้ต้องฝากขอบคุณในน้ำใจประชาชนชาวอุทัยธานีทุกคน ที่ได้ช่วยกันอนุรักษ์ คุ้มครองสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
นายวิทยา จตุรภาค ผู้สื่อข่าวจังหวัดกำแพงเพชร