กาญจนบุรี กรมอุทยานฯ ยื่นหลักฐาน ชง ป.ป.ช. สอบ จนท.รัฐกราวรูด ปม มีมติ ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ข ทับที่อุทยานฯไทรโยค แปลงบ้านพุองกะที่ไม้ป่าถูกตัดกว่า 400 ท่อน เผย ยังมี ที่ ส.ป.ก.ทับซ้อนที่อุทยานฯอีกมากกว่า 2,000 ไร่
วันนี้ 14 พ.ค.64 ที่หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ กจ.1 (ท่าเสา) ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผอ.สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช. นางสาวสุนันทา จำปาเงิน ผอ.สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรี นายธนเกียรติ วัฒนศิลป์ นักสืบสวนทุจริต ชำนาญการ ป.ป.ช. ภาค 7 เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ในคดีตรวจยึดไม้ป่าหวงห้าม เมื่อวันที่11 เม.ย.64 อายุร่วม40ปี จำนวน 400 ท่อน ในแปลง ส.ป.ก.4-01ข. เนื้อที่ 45ไร่ 2 งาน17 ตาราวา ที่ออกในวันที่ 3 ม.ค.2561 และทับซ้อนกับเขตอุทยานไทรโยค จำนวน 5ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา
โดยมีนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง)นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค ได้ลงพื้นที่บ้านพุองกะ ม.4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นายไพโรจน์ เขียวแก้ว หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ กจ.1(ท่าเสา ให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายที่มาที่ไปให้รับทราบข้อเท็จจริง
การบรรยายใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ จากนั้นคณะทั้งหมดได้ไปตรวจดูไม้ท่อนกว่า 400 ท่อนที่เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาเอาไว้ จากนั้นเดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ที่ไม้จำนวนดังกล่าวถูกตัดบนเนื้อที่กว่า 45 ไร่ ซึ่งเป็นที่ ส.ป.ก.4-01 ข ที่ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านพุองกะ หมู่ 4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค โดยคณะเจ้าหน้าที่ได้ใช้อากาศยานไร้คนขับ(โดรน)ในการบินสำรวจ
ทั้งนี้นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผอ.สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช.เปิดเผยภายหลังว่า เริ่มแรกต้องตรวจสอบก่อนว่าที่ดินผืนนี้นั้นอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่ และการที่ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 กระบวนการทำอย่างไรจึงออกได้ อีกส่วนหนึ่งก็คือบุคคลที่ได้รับ ส.ป.ก.4-01 เขาเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้หรือไม่
ขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบต่างๆตั้งแต่เจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติ คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแต่ละช่วงแต่ละชั้นของเรื่องมันมีความผิดพลาดหรือบกพร่องอย่างไร ถึงมีการออก ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่อย่างนี้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในส่วนที่ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ฉะนั้น ป.ป.ช.จะทำการพิสูจน์เพื่อให้ทราบเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่
ถามว่ากรณีที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากถึง 56 คนหนักใจหรือไม่นั้น เรื่องนี้ ป.ป.ช.เราไม่หนักใจเหตุผลก็คือหน้าที่ความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกระดับอยู่แล้วตั้งแต่ระดับผู้ปฏิบัติไปจนถึงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานหรือระดับรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป เพราะเราทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามพยานหลักฐานอยู่แล้วเพราะฉะนั้นจึงไม่รู้สึกหนักใจอะไร
สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำการตรวจสอบให้เสร็จภายใน 6 เดือน เพราะเราก็อยากจะรู้เช่นกันว่าในรายละเอียดของเรื่องมันมีที่มาที่ไปอย่างไร และมีใครเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือเข้าไปมีผลประโยชน์อย่างไรหรือไม่
โจทก์แรกในการตรวจสอบเลยคือขบวนการออก ส.ป.ก.4-01 คือเป้าหมายหลักในการที่จะพิจารณาว่า ฝ่ายที่เข้าไปตัดไม้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ที่เขาอ้างว่าข้าราชการออก ส.ป.ก.4-01 ให้เขาเขาจึงเป็นผูมีสิทธิ์ในการดำเนินการในพื้นที่ได้ เราก็ต้องมาดูว่ากระบวนการออก ส.ป.ก.4-01 มันเป็นกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมายหรือถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งต้องมาไล่กันตั้งแต่ต้นจนจบ
ทั้งเขตพื้นที่ทั้งกระบวนการออก ส.ป.ก.4-01 กระบวนการสอบสวน กระบวนการได้มาของสิทธิ์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนใครจะผิดหรือถูกเดี๋ยวต้องมาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง เพราะชั้นการพิจารณาเรามีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการติดสินในรอบสุดท้ายอยู่แล้ว
สำหรับกรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เช่นที่ จ.เพชรบูรณ์ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี เป็นต้น แต่ขบวนการสอบสวนในเรื่องพวกนี้ค่อนข้างที่จะซับซ้อนและยุ่งยาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับทางด้านเทคนิคเช่นรูปแผนที่หรือการครอบครองที่ดินที่ต้องย้อนกลับไปดูภาพถ่ายตั้งแต่ในอดีตตั้งแต่ปี 96-97 ที่ต้องไล่เรียงมา ซึ่งมันเป็นเรื่องของเทคนิคล้วนๆและมีข้อต่อสู่มาก
บางครั้งเป็นเรื่องของแนวเขตพื้นที่ในที่ดินของรัฐเอง ซึ่งมีปัญหาในการพิจารณาเช่นกัน เช่นกรณีนี้ พื้นที่ ส.ป.ก.ไปทับซ้อนที่อุทยานฯอยู่ 5 ไร่ถือมันเฉี่ยวมาก ดังนั้นมันจึงมีข้อต่อสู้อยู่ตลอดเวลาซึ่งเทคโนโลยีในการรังวัดพื้นที่ในสมัยเก่ามันอาจจะคลาดเคลื่อนได้
สำหรับจังหวัดอื่นทาง ป.ป.ช.ก็ได้รับเรื่องนี้เอาไว้เช่นกัน แต่ที่จังหวัดกาญจนบุรีมันมีเรื่องของไม้เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ จึงลงพื้นที่มาทำและตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ ถามว่ากรณีนี้มีโทษหนักหรือไม่นั้น หากมีการตัดไม้ก็เป็นความผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ ผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นป่าก็ผิดไปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ไป
ในส่วนของ ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบโดยกฎหมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องการตรวจสอบกระบวนการออก ส.ป.ก.4-01 และมีการตัดไม้ถ้ามีการอนุญาตแค่นั้นเอง ถึงตรงนี้ถือว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องเอาไว้แล้ว แต่ว่ายังมีกระบวนการนำเรื่องเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อตรวจรับ เมื่อรับแล้วก็จะต้องตั้งคณะกรรมการไต่สวนขึ้นมาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ด้านนานนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ.3(บ้านโป่ง) กล่าวว่าเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมง.ทส. นายจตุพร บรุษพัฒน์ ปลัด ทส.และนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหา หากพบการกระทำผิด ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิดเสียเอง
ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาที่ 12909/2557 ตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า จำเลย ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)ให้แก่นายด้าเอ็ม ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่า นายด้าเอ็ม ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นายด้าเอ็ม ได้ไป
ซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)โดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐาน เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
โดยวันนี้ตนได้มอบหมายให้นายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค มอบบันทึกร้องเรียนในเรื่องดังกล่าว ให้กับนายหิรัญเศรษฐ์ฯ เพื่อให้ดำเนินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ นายสมเจตน์ จันทนา หน.อช.ไทรโยค เปิดเผย ว่ายังมีแปลงที่ดิน ส.ป.ก. ออกทับซ้อนอยู่กับอุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ จำนวนมากถึง 2,896 ไร่ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติไทรโยค จะรวบรวมหลักฐานและเอกสาร ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป./
/////////////////////////////////////
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี