โครงการสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทยมาเลเซียด้านอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อการแก้ปัญหาความมั่นคงที่ครอบคลุมการแก้ปัญหาหลายประการ
สภาพปัญหาความมั่นคงชายแดนไทยมาเลเซีย คือเขตรอยต่อชายแดนจังหวัดนราธิวาสมีความยาว 174 กิโลเมตรแบ่งเป็นเขตแดนทางบก 79 กิโลเมตรและเขตแดนทางน้ำ 95 กิโลเมตร ปัจจุบันผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงใช้พื้นที่บริเวณตามแนวชายแดนในการเคลื่อนไหวเพื่อก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาส ที่เมื่อคนร้ายก่อเหตุแล้วจะทำการแทรกซึมหลบหนีโดยข้ามแดนเข้าไปอยู่ในฝั่งมาเลเซียที่อยู่ตรงข้ามจังหวัดนราธิวาส
จากที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 4/2561 จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการจัดระเบียบชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ. 2561-2564 โดยมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ จัดทำรายละเอียดแนวทางจัดระเบียบชายแดนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ชัดเจนพร้อมทั้งจัดทำแผนงานโครงการสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน จากนั้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงมีการประชุม พร้อมกำหนดโครงการสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ตามลำน้ำโก-ลกระยะทาง 95 กิโลเมตรและพื้นที่อำเภอตากใบระยะทาง 21 กิโลเมตร จังหวัดนราธิวาสนำโดยผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสได้นำคณะทำงานลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และแระชาชนในพื้นที่รวมทั้งเจ้าของที่ดินติดแนวชายแดน จำนวน 293รายได้ให้ความยินยอมในการก่อสร้างรั้วชายแดน และได้มีการทำประชาวิจารณ์ ณ อบต.โฆษิต อำเภอตากใบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน 303 คน โดยมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนหน้าเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสเป็นหน่วยดำเนินงานตามแผนงานโครงการ ซึ่งเเบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่1 การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งระยะที่ 2 การสร้างรั้วชายแดนระยะที่ 3 การสร้างฐานปฏิบัติการ
พลตรีไพศาล หนูสังข์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ระบุว่า โครงการสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทยมาเลเซีย พื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีความคุ้มค่าต่อวัตถุประสงค์ของรัฐในเรื่องการรักษาอธิปไตย การสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการรักษาผลประโยชน์ของชาติ อีกทั้งไม่ส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-มาเลเซีย เนื่องจากแนวชายแดนตามลำน้ำโก-ลกได้จัดทำหลักเขตที่ชัดเจนทั้งทางฝั่งไทยและมาเลเซีย ได้ทำการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งตลอดแนวลำน้ำโก-ลก และในพื้นที่ชายแดนด้านจังหวัดสตูลจังหวัดสงขลาและจังหวัดยะลาในห้วงปี 2522 -2530 ซึ่งประเทศมาเลเซียได้ก่อสร้างรั้วชายแดนจำนวน 9 ช่วงระยะทาง 106.2 กิโลเมตรและในปี 2546 ได้ทำการสร้างร่วมระหว่างไทย-มาเลเซีย 1 ช่วงระยะทาง 5.3 กิโลเมตร
ทั้งนี้การดำเนินการสร้างรั้วชายแดน มีเป้าหมายระยะสั้น เพื่อป้องกัน สกัดกั้น ยับยั้งการลักลอบขนย้ายอาวุธ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สิ่งผิดกฎหมาย และการคัดกรองบุคคลตลอดจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนในระยะยาวเป็นการพัฒนาระบบบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้พื้นที่ชายแดนมีความมั่นคงปลอดภัย สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบริเวณชายแดนอีกทั้งยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้โครงการสร้างรั้วตามแนวชายแดนไทยมาเลเซีย พื้นที่จังหวัดนราธิวาส จะดำเนินการดังนี้ ก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโก-ลก บริเวณเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ระยะทาง 7.528 กิโลเมตรเป็นเงินงบประมาณจำนวนกว่า 467 ล้านบาท ก่อสร้างรั้วตาข่ายเหล็กชายแดนสูง 2 เมตรระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นเงินงบประมาณ จำนวนกว่า 114 ล้านบาท ก่อสร้างรั้วความมั่นคงอิเล็กทรอนิกส์ตามแนวชายแดนระยะทาง 6 กิโลเมตร บริเวณชุมชนบ้านตาบา ตำบลเจ๊ะเหตำบลเกาะสะท้อน ตำบลโฆษิต และตำบลนานาค เป็นเงินงบประมาณกว่า 52 ล้านบาท การสร้างฐานปฏิบัติการตรวจชายแดนไทย-มาเลเซียจำนวน 3 ฐานในพื้นที่บ้านตะเหลี่ยง ตำบลเกาะสะท้อน บ้านศรีพงันตำบลเกาะสะท้อน และบ้านตาเซะ ตำบลนานาค อำเภอตากใบ งบประมาณรวมกว่า 6 ล้านบาท ซึ่งในภาพรวมของการดำเนินการตามโครงการจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 640,513,287.13บาท
ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าวนราธิวาสรายงาน