เลขาธิการสมาพันธ์ครูหวั่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษา

เลขาธิการสมาพันธ์ครูหวั่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษา

ศรีสะเกษ เลขาธิการสมาพันธ์ครูหวั่นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…กระทบครูนักเรียนหลายด้าน

 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…..ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับการบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 1) ในวันที่ 17 ก.ย. 64 เป็นเรื่องด่วนที่ 1 เป็นร่างของรัฐบาลร่างเดียวที่จะให้รัฐสภาพิจารณาไม่มีร่างอื่นประกบนั้น ผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคคลากรทางการศึกษา ยังมีความวิตกกังวล เป็นห่วงที่จะกระทบในหลายด้านต่อนักเรียน ผู้ปกครอง ข้าราชการครู วิชาชีพควบคุม โอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาคและเท่าเทียม เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น ตนจึงขอเรียนไปยังผู้แทนปวงชน ท่านสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎร ท่านสมาชิก

วุฒิสภา ที่จะร่วมพิจารณารับหลักการของร่าง พ.ร.บ.นี้ ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญของชาติอย่างยิ่ง ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้มีรูปร่างหน้าตา กล่าวคือ 1. เพิ่มบน ขยายบนให้มากขึ้น ให้ใหญ่ขึ้น ให้มีอำนาจมากขึ้นและแข็งแรงขึ้น 1.1 สภาการศึกษา เป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ (มาตรา 98) 1.2 คณะกรรมการสภาการศึกษา เป็นคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ (มาตรา 100) 1.3 สถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ (มาตรา 58) 2. ตัดลดด้านล่างผู้สร้างคุณภาพการศึกษาตัวจริงโดย 2.1 ลดชั้นวิชาชีพครู ด้วยมีการศึกษาปริญญาตรีแค่ 4 ปี และไม่ใช่วิชาชีพควบคุม ไม่มีสภาครู ไม่มีบัญชีเงินเดือนครู ไม่มีองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู 2.2 ยุบ ควบรวมโรงเรียน 3. รวมอำนาจบริหารจัดการโรงเรียนสู่ศูนย์กลางสูงสุด ดังนี้ 3.1 ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานบอร์ดสภานโยบายการศึกษาแห่งชาติ 3.2 มีรัฐมนตรีว่าการฯ เป็นรองประธาน 3.3 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการนำเดี่ยว (รู้เรื่องการศึกษาอยู่คนเดียว) 4. เก่าเกินการบริหารส่วนภูมิภาค กลับไปสู่โครงสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2495 ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สมัยโน้นมีศึกษาธิการภาค 9 ภาค มีศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการอำเภอ (พ.ศ.2500 มีศึกษาธิการภาค 12 ภาค)

นายวิสัย เขตสกุล เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท.) กล่าวต่อไปว่า ผู้นำยุคใหม่ควรจะมีความคิดวิสัยทัศน์ที่ทันสมัยไปข้างหน้า ไม่น่าจะคิดถอยหลังไปไกลถึงขนาดนี้ เหมือนคิดไม่ได้ ความคิดใหม่ไม่มีแล้วในผู้นำประเทศและนักวิชาการบรรดาศักดิ์ในแผ่นดินของเราปัจจุบัน หันกลับไปเห็นผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ในมาตรา 24 ก็ใจหาย เพราะตำแหน่งนี้ทำการศึกษาชาติล้มเหลวมาหลายสมัย ใคร ๆ ก็รู้ ถ้าในโครงสร้างมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาเมื่อไหร่ ครูไทยได้เป็นนั่งร้านให้นักการเมืองสืบทอดอำนาจแน่นอน การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา ที่อ้างในการปฏิรูปการศึกษานั้น จะต้องให้ความสำคัญของพื้นที่คือโรงเรียน ห้องเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จึงอยากเรียนให้นำข้อคิดข้อเสนอไปพิจารณาแปรญัตติ 1. รัฐต้องจัดการศึกษา หากบุคคลหรือนิติบุคคลจัดการศึกษาต้องขออนุญาต (มาตรา 13 วรรคแรก) ประชากรในวัยเรียนต้องมีที่เรียนตามความต้องการ ไม่ควบรวมโรงเรียน (มาตรา 14 (9) 2. ให้มีสภาวิชาชีพครู เป็นวิชาชีพควบคุม (มาตรา 42) ให้มี พ.ร.บ.บัญชีเงินเดือนข้าราชการครูฯ (มาตรา 41) 3. ในวาระเริ่มต้นให้มีการกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ สถานศึกษา มีองค์คณะบริหารงานบุคคล ไตรภาคี อย่างมีส่วนร่วม (มาตรา 35) 4. ข้อนี้สำคัญมาก ให้โรงเรียนมีฐานะเป็น “สถานศึกษานิติบุคคลของรัฐ” อย่างแท้จริง (มาตรา 20 วรรค 4) ที่จะแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ตรงจุด แก้ได้โดย “หนึ่งสมองสองมือครู”

////////

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ.ศรีสะเกษ

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม