จังหวัดมหาสารคาม ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ กว่า 5 แสนตัว เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2564 ร่วมฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สร้างแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืน
ที่ อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน ต.แก่งเลิงจาน อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2564 มี หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก่งเลิงจาน หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนเข้าร่วม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า เนื่องในวันประมงแห่งชาติ ประจำปี 2564 ซึ่งตรงกลับกับวันสถาปนากรมประมง ครบรอบ ปีที่ 95 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เปลี่ยนแปลงวันประมงแห่งชาติ จากเดิมวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่าในเดือนกันยายนเป็นช่วงฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน และเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระบรมราชโองการ ให้ตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในวันที่ 21 กันยายน 2469 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกรมการประมงและกรมประมงตามลำดับ และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่สนพระทัยในกิจการด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาให้แก่ข้าราชการหรือนักเรียนไปศึกษาวิชาเพาะพันธุ์ปลาในต่างประเทศ ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำที่นำมาปล่อยในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม เป็นพันธุ์ปลากินพืชชนิดต่างๆ เช่น ปลายี่สกเทศ จำนวน 100,000 ตัว, ปลาตะเพียนขาว จำนวน 300,000 ตัว, ปลาสร้อยขาว จำนวน 100,000 ตัว และปลาบึก จำนวน 30 ตัว รวมทั้งสิ้น 500,030 ตัว
นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การดูแลรักษาสัตว์น้ำที่ยังมีขนาดเล็ก ได้มีโอกาสเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ก่อนจับขึ้นทำประโยชน์ โดยไม่ใช้วิธีการจับที่ผิดกฎหมาย เช่น ลอบพับ การใช้กระแสไฟฟ้าช็อต วัตถุระเบิด ยาเบื่อเมาหรือข่ายที่มีขนาดตาถี่เกินกฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยและพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง เพื่อที่จะได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำ ให้มีการขยาย แพร่พันธุ์ เพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพทาง การผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดความสมดุลทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนได้มีแหล่งอาหารโปรตีนไว้สำหรับบริโภค อันจะนำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหาร บนพื้นฐานเศรษฐกิจแห่งความพอเพียง และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพทางด้านการประมง ที่จะสามารถสร้างงานสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ประชาชนคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของชุมชนอย่างยั่งยืนอุดมสมบูรณ์ตลอดไป
//////
พิเชษฐ ยากรี – มหาสารคาม