กาญจนบุรี – ข่าวท่องเที่ยวเมืองกาญจน์ โควิดสายพันธุ์ใหม่ทำท่องเที่ยวลดฮวบ!! วัดถ้ำเสือ แห่งนี้ ปัจจุบันเป็นวัดและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติไปท่องเที่ยวไม่ขาดสาย วัดตั้งอยู่บนยอดเขาในอำเภอท่าม่วง ติดกับวัดถ้ำเขาน้อย ซึ่งเป็นวัดจีนตั้งอยู่ด้านหลัง เป็นที่รู้จักสำหรับทิวทัศน์ที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนา และประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หลวงพ่อชินประทานพร ภายในวัดประกอบด้วยอาคารและเจดีย์ สถาปัตยกรรมไทย, จีน, ญี่ปุ่น และผสมผสาน
วันนี้ 21 ม.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดถ้ำเสือ ตั้งอยู่บนเนินเขา ในตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง อดีตเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ ที่อยู่ในบริเวณถ้ำเสือด้านล่างริมเนินเขา ต่อมาได้แรงศรัทธาจากชาวบ้าน ร่วมกันสร้างและบูรณะ จนกลายเป็นวัดที่ใหญ่โต และมีความวิจิตรงดงาม วัดถ้ำเสือ เป็นวัดที่มีชื่อเสียงไม่น้อย รวมถึงยังถือว่าเป็นวัดที่มี พระหลวงพ่อชินประทานพร องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกาญจนบุรี พระเจดีย์ที่มีความสวยงามโดดเด่น สามารถมองเห็นได้จากในระยะไกล เพราะตั้งอยู่บนเนินเขา ใครที่มาเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรี สามารถแวะเยี่ยมชมวัด สักการะพระบรมสารีริกธาตุภายในพระเจดีย์เกศแก้วปราสาท และนมัสการหลวงพ่อชินประทานพร
ปัจจุบันวัดถ้ำเสือ ด้านหน้าจะเป็นลานจอดรถทัวร์ขนาดใหญ่ และร้านขายของฝากต่างๆ รวมถึงอาหารพื้นบ้าน ศาลาด้านล่างติดกับบริเวณที่จอดรถ เป็นศาลาการเปรียญประดิษฐานสังขารหลวงปู่ชื่น ที่บรรจุอยู่ในโลงแก้ว มีศาลาประดิษฐานรูปหล่อเจ้าอาวาสหลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อชื่น ซึ่งหลวงพ่อสิงห์เป็นพระธุดงค์ที่มาพบถ้ำเสือ ส่วนอดีตพระครูสิทธิวิมล ปาสาทิโก หรือหลวงพ่อชื่น เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรวัด และยังมีส่วนที่เป็นถ้ำ ที่แบ่งออกเป็น 4 ห้อง มีห้องโถงใหญ่ประดิษฐานพระประธาน 2 ห้อง สำหรับหลวงพ่อชื่นมาบำเพ็ญภาวนา และห้องประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิม ส่ด้านบนเขาใกล้กับพระองค์ใหญ่ ปัจจุบันรถขนาดเล็กสามารถขึ้นไปจอดได้แล้วเดินขึ้นไปถึงยังพระหลวงพ่อชินประทานพร ได้ไม่ไกลนัก ทำให้สะดวกกับผู้ไปท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
การขึ้นไปบนเขาที่ประดิษฐานหลวงพ่อชินประทานพร และพระเจดีย์ ทำได้ทั้งเดินขึ้นบันไดนาคด้านหน้า ที่มีจำนวน 157 ขั้น ชันประมาณ 60 องศา หรือสามารถซื้อตั๋วรถรางไฟฟ้านั่งไปกลับ (ไม่ต้องเดิน) ในราคาเพียง 10 บาท เมื่อขึ้นไปถึงบนเขาบริเวณวัด ด้านซ้ายติดกับบริเวณรถรางจะเป็นพระเจดีย์เกศแก้วปราสาท เดินตรงไปด้านหน้าจุดเด่นจุดแรกคือ พระชินประทานพร พระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ด้านซ้ายขององค์พระเป็นวิหาร ส่วนด้านขวาเป็นพระอุโบสถอัฏมุข นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่วัดมักจะสักการะพระชินประทานพรก่อน แล้วค่อยขึ้นไปยังพระเจดีย์เกศแก้วปราสาท เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และชมวิวทิวทัศน์ แบบ 360 องศา ซึ่งด้านหน้าวัดจะเห็นลำน้ำแม่กลอง ด้านหลังเป็นท้องทุ่งนาเขียวขจี ส่วนด้านข้างติดกับองค์พระเจดีย์ เป็นเก๋งจีนของวัดถ้ำเขาน้อย
วัดถ้ำเสือได้มีการวางแผ่นฤกษ์เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พ.ศ. 2516 โดยเริ่มสร้าง “หลวงพ่อชินประทานพร” ขนาด สูง 9 วา 9 นิ้ว หน้าตัก 5 วา 3 ศอก 9 นิ้ว นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ ปางประทานพร พระหัตถ์ขวายกขึ้นระดับพระอุระ ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน กลางฝ่ามือมีดอกไม้ พระหัตถ์ซ้ายหงายมือวางบนพระเพลา (ตัก) ปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน กลางฝ่ามือมีรูปวงล้อธรรมจักร รอบองค์พระมีเรือนแก้วครอบลักษณะเดียวกับพระพุทธชินราช องค์พระประดับกระเบื้องสีทอง สุกอร่าม รอบนอกมีซุ้มครอบองค์พระทั้งองค์ไว้อีกชั้นหนึ่ง นับได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่ง
ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีการสร้างมณฑปเพื่อครอบรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ที่มีความยาว 1.50 เมตร และเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี พ.ศ. 2520 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา (พื้นที่ในการสร้างอุโบสถ) เพื่อสร้างพระอุโบสถอัฐมุข คือสร้างพระอุโบสถให้มีมุข 8 ด้าน โดยมีมุขหลักยื่นออกมา 4 ด้าน ระหว่างมุขแต่ละด้าน มีหลังคาจั่วซ้อนชั้นยื่นออกมา ดูเป็นมุข 8 ด้าน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนที่ไหน เป็นการสร้างโดยเปรียบกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไปทั้ง 8 ทิศ เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ จะเห็นผนังเป็นแปดด้านอย่างชัดเจน ผนังประดับด้วยปูนปั้นเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ
ต่อมาในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 9 ปี พ.ศ. 2527 ได้มีการทำพิธีลงเข็ม เทเสาเอก เพื่อก่อสร้าง “พระเจดีย์เกศแก้วปราสาท” ที่ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 7 ปี เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม สีส้มอิฐ มีความสูง 75 เมตร มีทั้งหมด 9 ชั้น ตรงกลางมีบันไดเวียนสามารถเดินขึ้นไปถึงชั้นบนสุด แต่ละชั้นมีหน้าต่างติดด้วยบานกระจกเลื่อนโดยรอบ และประดิษฐานพระพุทธรูปตามบริเวณช่องหน้าต่าง สามารถขึ้นไปชั้นบนสุดเพื่อนมัสการองค์พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาบรรจุไว้ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2533
อดีตมหาโดด ซึ่งปัจจุบันเป็นไวยาวัจกร วัดถ้ำเสือ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของวัดแห่งนี้ว่า อดีตเป็นป่ารกทึบ เป็นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ ประชาชนไม่มีใครกล้าเข้ามาอยู่ จะมีก็เพียงพระสงฆ์ ที่บำเพ็ญเพียรเท่านั้น หลายองค์ไปปักกรดไปๆมาๆ จนมา พระครูสิทธิวิมล ปาสิโก หรือหลวงพ่อชื่น อดีตเจ้าอาวาส วัดถ้ำเสือที่มรณภาพไปนานแล้วปัจจุบันบรรจุอยู่ในโลงแก้วบนศาลาใหญ่ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้กราบสักการะ ท่านได้เป็นผู้ที่ริเริ่มก่อสร้างวัดแห่งนี้ด้วยตนเองเมื่อปี 2514 และเมื่อปี 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ ได้เสด็จไปวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ์ทรง 8เหลี่ยม ซึ่งวัดถ้ำเสืออดีตหลวงพ่อชื่นท่านจะสร้างทรง 8 เหลี่ยมทั้งสิ้น เพื่อเป็นการตัดทางเดินของลมที่พัดไปปะทะสิ่งปลูกสร้างเป็นการลดแรงลมลงได้ รวมถึงลดการสูญเสียของสิ่งปลูกสร้างได้อย่างน่าอัศจรรย์ ทำให้วัดแห่งนี้จะร่มเย็นตลอดทั้งปีไว่ว่าจะช่วงเช้า กลางวัน เย็น อีกทั้งใต้พระอุโบสถ ยอดเขาแห่งนี้หลวงพ่อชื่น ได้ออกแบบทำเป็นสถานที่กักน้ำไว้ก่อนปล่อยลงไปใช้ด้านล่าง ซึ่งสิ่งปลูกสร้างทุกอย่างท่านเป็นผู้ออกแบบเองทั้งสิ้น ไม่มีวิศวกร หรือสถาปนิก มาเป็นผู้ออกแบบให้แต่อย่างใด และพื้นที่เพียงเล็กน้อยสามารถมีสิ่งปลูกสร้างได้ลงตัวสวยงามมากๆ ปัจจุบันจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวจากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติขึ้นมาท่องเที่ยวกัน อดีตไม่เจอโควิด – 19 จะมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นมาก
มหาโดด ไวยาวัจกร กล่าวว่าที่มาที่ไปของวัดแห่งนี้ในอดีต ไม่ทราบว่ามีเสืออยู่จริงหรือไม่เพราะตั้งเป็นชื่อวัดถ้ำเสือ อดีตหลวงพ่อชื่น ได้เคยปรารภว่า ภายในถ้ำจะพบมีวัตถุอยู่จำนวนมาก ซึ่งเป็นของพวกที่ลักขโมย แล้วนำไปซุกซ่อนไว้ เพื่อหลบหนีเจ้าหน้าที่ แล้วเมื่อกลับมาเพื่อเอาสิ่งของที่พักไว้ คนเหล่านั้นเกิดอาการกลับไปไม่สมบูรณ์ ป่วย หรือเป็นอาการอื่นๆ บางคนถึงขั้นเสียชีวิต หลวงพ่อชื่น จึงได้ตั้งชื่อว่าวัดถ้ำเสือ ที่เป็นที่รู้จักของประชาชน นักท่องเที่ยวในปัจจุบันนี้
และปัจจุบันนี้ได้มีเจ้าอาวาส ท่านก็ได้เป็นลูกของหลวงพ่อชื่น เคยบวชเป็นพระมาตั่งแต่หลวงพ่อชื่น ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อหลวงพ่อชื่น มรณภาพไปเมื่อปี 2542 ท่านก็ได้ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสแทน แล้วก็ได้ปรับปรุงบูรณะสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติมตลอดเวลา เพราะเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันท่านเองก็จบทางช่างเชื่อมมาด้วย โดยอดีตท่านก็ได้ร่วมกันสร้างวัดถ้ำเสือแห่งนี้ร่วมกันมา ท่านออกแบบเองทั้งหมด บางจุดมีการพูดถึงเรื่องความไม่ปลอดภัย ท่านก็ได้บอกว่าจะมีการปรับปรุงให้ปลอดภัยต่อไป
และในอดีตไม่เกิดโควิด – 19 นักท่องเที่ยวแน่นมาทั้งชาวไทยและต่างชาติ ปัจจุบันเหลือเพียงคนไทย เที่ยวแบบครอบครัว ทางวัดก็ไม่ได้ปิดเปิดตลอด รวมถึงมีมาตรการป้องกันตามกระทรวงสาธารณสุข วางไว้ทุกประการ ผู้ใดไม่มีหน้ากากป้องกัน ทางวัดก็มีแจกให้ฟรีๆ ทุกคนเพื่อคาวมปลอดภัยกับส่วนรวม และตัวเขาเอง โดยในช่วงปีใหม่แรกๆ มีนักท่องเที่ยวมาก หลังจากปีใหม่มาได้เพียงอาทิตย์เดียว นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป คาดน่าจะเกิดจากโควิดสายพันธ์ใหม่ ทัวร์ขนาดใหญ่จึงหายไป ฝากนักท่องเที่ยวเชิญมาท่องเที่ยวได้ปลอดภัย เพราะทุกจุดจะมีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ไว้ให้นักท่องเที่ยวเพื่อความปลอดภัย มาได้ทุกวันไม่มีคำว่าปิด เปิด 08.00 น. ปิด 17.30 น. ทุกวัน ขอเชิญชวนทุกท่าน./
////////////////////////////////
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี