โอท็อปขนาดใหญ่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร

โอท็อปขนาดใหญ่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร

 หัตถวิถีมณีวิภาศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท็อปขนาดใหญ่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร

ศรีสะเกษ-เมื่อวันที่ 29 ม.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้หัตถวิถีมณีวิภา เลขที่ 188 ต.หนองหญ้าลาด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธาน ในพิธีเปิดศูนย์การเรียนรู้ “หัตถวิถีมณีวิภา” ซึ่ง นพ.อดุลย์ โบจรัส ผอ.รพ.กันทรารมย์ และ นางมลวิภา โบจรัส ประธานสภาวัฒนธรรม อ.กันทรลักษ์ ได้สร้างศูนย์ขนาดใหญ่ขึ้นมาบนเนื้อที่ 8 ไร่ เป็นเส้นทางไปสู่ชายแดนไทย-กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในเขต

อ.กันทรลักษ์ รวมทั้งกลุ่มที่ผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ OTOP ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ให้มีสถานที่ในการจำหน่ายสินค้า และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ โดยภายในศูนย์มีแหล่งผลิตผ้าไหม การสาธิตการทอผ้าไหม การแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 เผ่า ร้านกาแฟมุมสบายรสชาติเข้มข้น การจำหน่ายสินค้าปลอดสารพิษ อีกทั้งเพื่อเป็นสถานที่ในการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม อ.กันทรลักษ์ ตลอดจนเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนศิลปะ วัฒนธรรม กับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมี นางมลวิภา โบจรัส ประธานสภาวัฒนธรรม อ.กันทรลักษ์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ นายปราจิต แก้วลา นายอำเภอกันทรารมย์ นายวิทยา วิรารัตน์ ประธานสภาวัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ และ นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ เป็นตัวแทนของ นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ เขต 4 พรรคเพื่อไทย นำคณะข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทั่วไป มาร่วมพิธีในครั้งนี้


นางมลวิภา โบจรัส ประธานสภาวัฒนธรรม อ.กันทรลักษ์ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะเป็นจุดศูนย์รวมของสินค้าโอท๊อป และสินค้าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เป็นการแลกเปลี่ยนประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่เป็น AEC ที่นี่จะเป็น AEC ของแต่ละท้องถิ่น และกัมพูชาซึ่งมีส่วนเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยเราในขณะนี้ รวมทั้งจะใช้ศูนย์นี้เป็นสถานที่ขับเคลื่อนทางด้านประเพณีวัฒนธรรมต่างๆและอัตลักษณ์ศิลปหัตถกรรมที่จะนำเอามาบูรณาการให้สอดคล้องกัน โดยจะนำมาปรับใช้ในรูปของด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว ตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชาด้านปราสาทพระวิหาร

นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้หัตถวิถีมณีวิภาแห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนชาวอำเภอกันทรลักษ์และชาวจังหวัดศรีสะเกษอย่างแน่นอน อย่างแรกก็คือการเพิ่มช่องทางด้านการตลาด นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่อำเภอกันทรลักษ์อย่างต่ำ 5 – 600,000 คนทุกปีก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเหล่านี้จะได้เข้ามาท่องเที่ยวชมที่ศูนย์แห่งนี้ จะได้รู้ว่าในพื้นที่ของอำเภอกันทรลักษ์หรือจังหวัดศรีสะเกษ เรามีหัตถะหรือหัตถสินค้านี้มีประเภทไหนบ้าง จะได้รู้ว่าสินค้าหัตถะที่ทำด้วยมือใส่หัวใจลงไปในผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาแต่ละชิ้นงานนั้น มีคุณค่างดงามคุ้มค่าเกินราคามากเพียงใด และขณะนี้สินค้าประเภทนี้กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก/////

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม