ศอ.บต. ร่วมกำหนดทิศทาง มิติทางเศรษฐกิจ ระดมความคิดเห็นหลายภาคส่วน ให้ครอบคลุม เพื่อสร้างโอกาส ตามศักยภาพ และความท้าทายของจชต. หลังนายกรัฐมนตรี เยือนซาอุฯ เมื่อ 25 ม.ค.65 ที่ผ่านมา
วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) บรรยากาศการประชุมเชิงปฏิบัติการ Focus Group “โอกาส ศักยภาพ และความท้าทายของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดิอาระเบีย โดยสมบูรณ์” โดยมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเข้าร่วม ณ โรงแรมเซาเทิร์นวิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี/ผ่านระบบ Zoom ออนไลน์
การประชุมเชิงปฏิบัติการ Focus Group ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นวันที่ 2 ซึ่งได้มีการระดมความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเศรษฐกิจและกลุ่มสังคมและทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ครอบคลุมใน 9 ด้าน สำหรับวันนี้เป็นการหารือในด้านการค้าการลงทุน ซึ่งผู้เข้าร่วมได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของสินค้าและบริการในพื้นที่ เช่น ธุรกิจทางการแพทย์หรือธรุกิจด้านสุขภาพ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียมีความมั่นใจในศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ของไทย รวมทั้ง ยังเห็นว่าพื้นที่ว่างเปล่าที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตร เช่น การปลูกสัปปะรด ลูกหยี มะขามหวาน เป็นต้น เนื่องจากตลาดซาอุดิอาระเบียชื่นชอบผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวของประเทศไทย ซึ่งจะสอดรับกับความต้องการของประเทศซาอุดิอาระเบียได้ นอกจากนี้ ในประเด็นของแหล่งเงินทุนควรมีการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และพัฒนาแหล่งเงินทุนโดยยกระดับสถาบันการเงินฮาลาลให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ภาคเอกชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขนส่ง การพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น ด้านแรงงาน ผู้เข้าร่วมได้มีการเสนอแนะ ให้มีการใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนไทยที่เกิดในประเทศซาอุดิอาระเบีย และพัฒนากลุ่มนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียนำวุฒิมาเทียบวุฒิในประเทศและพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจ สร้างปัตตานี เป็นประตูสู่โลกมุสลิม เพื่อรองรับการเข้ามาของกลุ่มชาวตะวันออกกลาง อีกทั้งส่งเสริมให้นักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ในประเทศไทย เรียนในหลักสูตรภาษาอาหรับ พร้อมเตรียมส่งออกแรงงานอย่างมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถมีรายได้สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ขณะที่ด้านกลุ่มภาคประชาสังคม ได้มีข้อเสนอแนะให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ดึงศักยภาพของพื้นที่มาสร้างมูลค่า ต่อการดำเนินชีวิต อาทิ การเจาะตลาดของกลุ่มเสื้อผ้าที่สามารถส่งออกไปยังประเทศฝั่งตะวันออกกลางได้ การผลิตเนื้อวัวโคขุน เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการพัฒนาป่าชุมชนในพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เชิงระบบนิเวศน์ เพื่อให้กลุ่มนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากประเทศซาอุดิอาระเบีย เกิดการเรียนรู้ต่อไป
ทั้งนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการ Focus Group “โอกาส ศักยภาพ และความท้าทาย ของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทย ภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดิอาระเบีย โดยสมบูรณ์” ศอ.บต.จะทำการรวบรวมข้อมูลของทุกภาคส่วนที่ได้มีการแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะใน 9 ด้านประกอบด้วย ด้านการท่องเที่ยว ด้านพลังงาน ด้านแรงงาน ด้านอาหาร ด้านสุขภาพ ด้านความมั่นคง ด้านการศึกษาและศาสนา ด้านการค้าการลงทุน ตลอดจนด้านกีฬา ตามกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ภายใต้มิติความสัมพันธ์ และเกิดผลเป็นรูปประธรรม มีประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และประเทศไทย พร้อมเตรียมนำเสนอในกิจกรรม“การสัมมนาเรื่อง “โอกาส ศักยภาพและความ ท้าทายของจังหวัดชายแดนภาคใต้และของประเทศไทยภายหลังรัฐบาลเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดิอาระเบียโดยสมบูรณ์” ที่จะมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ณ มหาวิทยาลัยฟาฎอนี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีโดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เข้าร่วมผ่านระบบ Zoom เพื่อเป็นการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันหลังพูดคุยหารือระหว่าง 2 ประเทศ ที่ได้มีข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และซาอุดิอาระเบีย ภายหลังจากที่ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา