ส.ส.ประชาชาติรับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ รับปากจะช่วยแก้ปัญหาที่ดิน ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ ชี้ ต้องแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

ส.ส.ประชาชาติรับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ รับปากจะช่วยแก้ปัญหาที่ดิน ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ ชี้ ต้องแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

ส.ส.ประชาชาติรับฟังปัญหาที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ รับปากจะช่วยแก้ปัญหาที่ดิน ‘พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง’ ชี้ ต้องแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ

วันนี้ (7 มี.ค.65) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ, นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3, นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4, นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4, นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2, นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ และคณะ ร่วมเวทีประชาคมรับฟังปัญหา ผู้ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทับซ้อนจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ จัดขึ้นที่มัสยิดดารุลอามาน บ้านกาหนั๊วะ ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส โดยมีพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก 3 ตำบลมาร่วมสะท้อนปัญหา คือ ต.กาลิซา ต.บองอ และ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส รวมหลายร้อยคน

ก่อนเริ่มการพูดคุยปัญหาที่ดิน ตัวแทน ส.ส.ประชาชาติจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รายงานการทำหน้าที่ผู้แทนราษฏรให้ประชาชนได้รับทราบว่าได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอะไรในสภาผู้แทนราษฏรบ้าง

โดยนายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี รายงานว่า ได้ผลักดันให้เพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรทางศาสนา เช่น อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น รวมถึงโต๊ะครู และโดยเฉพาะการผลักดันให้จัดสรรงบประมาณให้มีอาหารกลางวันแก่ผู้เรียนตาดีกา

นายซูการ์ โน มะทา ส.ส.ยะลา รายงานว่า ได้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฏรตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนต้องการ นั่นคือการยึดมั่นในหลักธรรมที่ถูกต้องในการตัดสินใจสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะการแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของบางพรรคการเมือง ที่เสนอให้ให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้นั้นเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ไม่อาจยอมรับได้ จึงได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนในสภาผู้แทนราษฏรแล้ว

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส รายงานว่า การเรียกร้องความเป็นธรรมต่อพี่น้องประชาชนที่ถูกอธรรมนั้นมีความคืบหน้าอย่างมาก โดยพรรคประชาชาติได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 3 แล้ว เหลือขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่านความชอบจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้ให้คำมั่นว่า พรรคประชาชาติจะขอทำหน้าที่แก้ปัญหาเรื่องที่ดินทับซ้อนเขตอุทยาน กฎหมายใดๆที่เขียนขึ้น จะรังแกประชาชนไม่ได้ ต้องไม่มีกฎหมายใดที่ใหญ่กว่าชีวิตประชาชน การที่กฎหมายมาขับไล่ประชาชนให้ออกไปจากที่ดิน ไม่แตกต่างอะไรจากอิสราเอลที่รุกรานขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไปจากดินแดน

จากนั้น ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาที่ดิน โดยพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายอาหมัด เบนโน, นายมาหามะ อิงดิง, นายอาหะมะ ลีเฮ็ง และผู้ได้รับผลกระทบอีกหลายคนร่วมสะท้อนปัญหา

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า “ที่ดินคือชีวิตของผู้คน ผืนแผนดินสามารถแปรเปลี่ยนมาเป็นอาหารและเงินทองให้แก่มนุษย์โดยไม่มีวันสิ้นสุดตราบใดที่มีความขยันหว่านเม็ดพันธุ์ลงบนดิน ปัญหาใหญ่ของที่ดินของประเทศไทยที่เกิดความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากรัฐบาลออกกฎหมายประกาศให้เป็นที่ดินของรัฐ อาทิ พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ให้นิยามคำว่า “ป่า” คือ ‘ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน’ ดังนั้นที่ดินที่ประชาชนยังไม่เป็นโฉนด น.ส.3 หรือ ส.ค.1 ทั้งที่ความเป็นจริงทางสังคมนั้นที่ดินเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของบุคคลแต่ไม่ได้มาตามกฏหมายที่ดินจำนวนมากที่ดินเหล่านี้จะถูกนิยามเป็นป่าทั้งหมด เมื่อประชาชนมีปัญหากับรัฐบาลจะไม่สามารถเอาชนะรัฐบาลได้ เมื่อสักครู่นั่งรถผ่านมาที่ใกล้ๆเวทีนี้ ท่านส.ส.กูเฮง บอกว่ามีติดป้ายและได้ส่งภาพมาให้ดู มีป้ายติดว่า ‘พื้นที่ป่าไม้ 2484 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจยึดแจ้งความไว้แล้วตามคดีอาญาที่ 128/2560 ลงวันที่ 26 กันยายน 2560 สภ.ศรีสาคร ห้ามมิให้บุคคลใดๆเข้าไปใช้ไปประโยชน์ในพื้นที่โดยเด็ดขาด’ นี่คือรัฐบาลที่ไปเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นที่ดินของรัฐบาลตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ซึ่งคณะกรรมาธิกาวิสามัญปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดิน มีเรื่องของคนจังหวัดนราธิวาสพบว่ามีชุมชนถูกแนวป่าไม้ ประกาศทับที่อาศัยและที่ทำกิน คือ

กรณีตัวอย่างการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานบูโด-สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส 7 อำเภอ ปัตตานี 1 อำเภอและยะลา 1 อำเภอ รวม 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ทับซ้อนที่ดินที่ทำกินของประชาชนซึ่งตั้งถิ่นฐานนานกว่า 300 ปีได้รับความเดือดร้อนกว่า 20,926 ราย ที่ดิน 23,015 แปลง เนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งการโค่นยางพาราเพื่อขอปลูกใหม่ทดแทน การเข้าทำกินในสวนดูซง เป็นการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมายต่อประชาชนจำนวนมากที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อาทิ ส.ค.1 นส.3 และโฉนด รวมทั้งที่ครอบครองที่ดินโดยชอบ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ใดๆ ตามประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม นี้คือรากเหง้าของปัญหาว่า ‘ป่ารุกคน’ ที่รัฐเป็นผู้กระทำความผิด แต่รัฐบาลจะไม่ยอมรับความผิด ที่ได้ทำขึ้น แต่กลับใส่ร้ายบอกว่า ‘คนรุกป่า’ ทั้งที่ผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่มานานกว่า 300 ปี แต่ตั้งกลายเป็นผู้อาศัย ยังไม่พอยังถูกแจ้งความดำเนินคดีด้วยว่าเป็นผู้บุกรุกที่อุทยาน และยังมี พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมี พ.ร.บ.สงวนป่า พ.ศ.2535 การแก้ปัญหาที่รัฐก่อขึ้นได้ออกเป็นมติ ครม ให้มีการพิสูจน์สิทธิว่าประชาชนอยู่มาก่อนกฏหมายประกาศหรือไม่ ทราบว่ามีการพิสูจน์เสร็จแล้วที่ดินมากกว่า 90%พบว่าประชาชนใน 3 จังหวัดอยู่มาก่อนประกาศเป็นอุทยานบูโด-สุไหงปาดี ใช้เวลาพิสูจน์มากกว่า 20 ปี กำหลังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่แล้วก็ต้องดับสลายเพราะรัฐบาล คสช ได้ออก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 กฎหมายนี้เป็นความอยุติธรรมต่อพี่น้องสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างมาก ผู้ที่อยู่มาก่อนและทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการประกาศแนวเขตอุทานที่พิสูจน์สิทธิแล้ว ประชาชนเหล่านี้จึงกลายเป็นผู้อยู่อาศัยตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 มาตรา 64 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 240วัน (25พฤศจิกายน จนถึง 22กรกฎาคม 2563) จากนั้นต้องเป็นผู้อาศัยที่รัฐเป็นผู้อนุญาตให้อยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี ทั้งที่ประชาชนเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินควรออกโฉนด หรือเอกสารสิทธิตามกฏหมายที่ดินให้ประชาชน

พันตำรวจเอก ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากพรรคประชาชาติได้รับฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนแล้ว ได้ส่งไปยังเครือข่ายให้พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยาน ปรากฏว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าให้แก้กฏหมาย เพราะเป็นที่ปรากฏชัดเจนว่ารัฐทำผิด แทนที่จะมาขอโทษหรือกลับไปตั้งต้นใหม่กลับออกกฏหมายทำผิดซ้ำซากจนมาถึงวันนี้ ถ้ากฎหมายนี้ประกาศใช้บังคับ ท่านต้องเดินไปขอรัฐเป็นผู้อาศัย และจะมีปัญหาจะไปกรีดยางหรือหาของป่าก็ไม่ได้ จะถูกจับ หรือที่ปรากฏว่ามีป้ายไล่ออกไป หรือวันดีคืนดีท่านอาจจะถูกบังคับคดีด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกบางมาตรา ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ที่ขัดหลักนิติธรรม สร้างปัญหาที่ส่งผลให้ประชาชนกลายเป็นผู้บุกรุกอย่างไม่เป็นธรรม และต้องมีภาระในการพิสูจน์ตนเอง การแก้กฏหมายต้องอาศัยข้อมูลข้อเท็จจริงจากประชาชนใช้อำนาจทางการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดที่มีความยุติธรรมแก่ปวงชนมากที่สุด กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบได้กางแผนที่ บอกเล่าถึงที่ดินที่อาศัยและได้รับผลกระทบจากกฎหมาย และร้องขอ ส.ส.ประชาชาติช่วยแก้ไข

การเมือง