ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม จัดสรรวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 2

ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม จัดสรรวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 2

ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม จัดสรรวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย รอบที่ 2 งบประมาณ 2565 จำนวน 9,500 โด๊ส ลดปัญหาการระบาดของโรค

กรมปศุสัตว์ รณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม รอบที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 แจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่แต่ละจังหวัดทั่วประเทศ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันการเกิดโรคในโคนมและลดปริมาณการระบาดของเชื้อไวรัสในแต่ละพื้นที่ เช่นเดียวกับที่ ศูนย์รวบรมน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมโคกก่อ จำกัด อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคามสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม ร่วมกับสหกรณ์โคนมโคกก่อฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย รอบ 2/2565 ให้แล้วเสร็จภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมปล่อยขบวนรถ FMD Rider จำนวน 6 สาย ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย และการทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงในโคนม ตามมาตรการเฝ้าระวังโรคของกรมปศุสัตว์
สัตวแพทย์หญิงอัญชลี คำใสย์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สนง.ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์ได้มีโยบายให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมรอบที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2565 โดยกำหนดให้มีการรณรงค์ฉีดวัคซีนดังกล่าวในเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 โดยให้หน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์ในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม รอบที่ 2 และทำลายเชื้อในพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาการระบาดของโรค โดยให้ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนมทั้งประเทศ ทุกตัวที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไป สำหรับโคนมที่ได้รับวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อยเข็มแรก ต้องได้รับการฉีดกระตุ้นซ้ำหลังจากเข็มแรกใน 3 – 4 สัปดาห์ และทุกครั้งที่ดำเนินการฉีดวัคซีน ให้จัดเตรียมยาแก้แพ้ให้พร้อม สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินในสัตว์ที่อาจแสดงอาการแพ้วัคซีน มีการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ สหกรณ์โคนมหรือศูนย์รับนมในพื้นที่ โดยระดมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในพื้นที่ ได้แก่ เจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตสัตว์ (HHU), เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ,เจ้าหน้าที่จ้างเหมาช่วยงานสัตวแพทย์, เจ้าหน้าที่ผสมเทียม เร่งเข้าดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรโคนมในพื้นที่ และจะต้องมีการลงข้อมูลประวัติการได้รับวัคซีนของสัตว์แต่ละตัว โดยลงข้อมูลการฉีดวัคซีนในบัตรประจำตัวโคนม (ผท.1) ซึ่งให้ลงชนิดของวัคซีน และชุดการผลิตของวัคซีนด้วย พร้อมทั้งให้ปศุสัตว์อำเภอ จัดทำแบบรายงานการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดสัตว์ (กคร.4) เก็บไว้เป็นหลักฐาน ทั้งต้องบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนในระบบการทำเครื่องหมายและขึ้นทะเบียนสัตว์แห่งชาติ (NID) สำหรับสัตว์ที่มีการขึ้นทะเบียนในระบบดังกล่าว ด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดมหาสารคาม โดย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม มีแผนจัดสรรวัคซีนโคนม รอบที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งจะจัดสรรให้แก่ สหกรณ์โคนมโคกก่อ จำนวน 5,860 โด๊ส, สหกรณ์โคนมมหาสารคาม จำนวน 3,440 โด๊ส, สนง.ปศุสัตว์อำเภอกุดรัง จำนวน 50 โด๊ส, สนง.ปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย จำนวน 100 โด๊ส และ สนง.ปศุสัตว์อำเภอชื่นชม จำนวน 50 โด๊ส รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,500 โด๊ส
////////////


พิเชษฐ ยากรี – มหาสารคาม

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม