ศอ.บต. ประชุมการจัดทำบัตรประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรัง อัสลี) จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ.2565
วันนี้ (24 มีนาคม 2565) ที่ ห้องประชุมเจริญจิตต์ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมติดตามการจัดทำบัตรประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรัง อัสลี) จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ.2565 โดยมี นายประเวศ หมีดเส็น ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจการพิเศษ ศอ.บต. พร้อมด้วยผู้แทนจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จังหวัดยะลา และนราธิวาสเข้าร่วมการประชุมทั้งแบบ On site และ Online
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค การดำเนินงานโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรัง อัสลี) ที่ผ่านมา ในแต่ละพื้นที่ที่มีความลำบาก ด้วยสภาพเส้นทางที่ไม่สะดวกอยู่ในเขตทุรกันดาร รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ในการเข้าถึงด้านอื่นๆ และติดตามการจัดทำบัตรประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรัง อัสลี) จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2565
นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมการขับเคลื่อนและให้ความสำคัญกับกลุ่มโอรังอัสลีให้มีสิทธิในการเป็นพลเมืองถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้นจากเดิม เพื่อให้เข้าถึงสวัสดิการของรัฐบาลในทุกด้านรวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มโอรังอัสลี ในที่ประชุมได้มีการรายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลให้แก่ชนเผ่ามันนิ มีข้อมูลสรุปการสำรวจจำนวนกลุ่มคนมานิของพื้นที่ต่างๆ ในพื้นที่อำเภอเบตง ได้แก่ บ้านนากอ จำนวนทั้งหมด 61 คน มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว 40 คน บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า 61 คน เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3 คน เงินอุดหนุนบุตร 7 คน บ้านอัยเยอร์เวงควีน จำนวนทั้งหมด 20 คน กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ อำเภอธารโต ได้แก่ บ้านวังไทร จำนวนทั้งหมด 10 คน รอการสำรวจเพิ่มเติม บ้านจุฬาภรณ์ 9 จำนวนทั้งหมด 50 คน กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ บ้านเกาะทวด จำนวนทั้งหมด 10 คน รอการสำรวจเพิ่มเติม อำเภอบันนังสตา ได้แก่ บ้านเขาน้ำตก จำนวนทั้งหมด 50 คน อยู่ในกระบวนการสร้างความเข้าใจ อำเภอจะแนะ ได้แก่ บ้านโต๊ะนอ จำนวนทั้งหมด 120 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ และอำเภอศรีสาคร ได้แก่ บ้านไอย์ตืองอ จำนวนทั้งหมด 32 คน อยู่ในกระบวนการสร้างความเข้าใจ รวมประชากรกลุ่มคนมานิทั้งหมด 354 คน
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรังอัสลี) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ได้มีการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกเอกสารรับรองบุคคล จัดทำบัตรประชาชน บัตรสวัสดิการอื่นๆ ที่เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (โอรังอัสลี) การพัฒนาคุณภาพชีวิต การจัดสรรพื้นที่และร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ การสนับสนับสนุนการฝึกอาชีพ การศึกษา สุขภาพ ตลอดจนการประกอบอาชีพในอนาคต ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มโอรังอัสลี ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐได้