เชียงแสน-เชียงของกำหนดเปิดด่านพร้อมบูชาท้าวเวสสุวรรณอายุ 300 ปีเก่าแก่ที่สุดของประเทศ
ที่ห้องธรรมลังการ ศาลากลาง จ.เชียงราย นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเปิดให้บุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านช่องทางทางบกโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมครบครัน ซึ่งนายภาสกรแจ้งว่ากรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ศบค.มีมติเห็นชอบให้จังหวัดชายแดนผ่อนคลายมาตรการให้คนเข้าออกได้นั้น มีกลุ่มจังหวัดที่ได้รับอนุมัติเปิดพรมแดนไปแล้ว 17 จังหวัด สำหรับ จ.เชียงราย เป็นกลุ่มจังหวัดระยะที่ 2 ร่วมกับ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน พะเยา และอุบลราชธานี เนื่องจากต้องต้องมีความละเอียดรอบคอบในการป้องกันการระบาดของโรคโดยเฉพาะ จ.เชียงราย เคยมีผู้ตรวจ ATK พบว่าติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมามากถึง 4,054 ราย กระนั้นในปัจจุบันตัวเลขลดลงจึงได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดชายแดนตามลำดับ
หลังการประชุม นายภาสกร กล่าวว่าปัจจุบัน จ.เชียงราย มีจุดผ่านแดนถาวร 6 จุด และจุดผ่อนปรนทางการค้าอีก 10 จุด โดยติดกับ สปป.ลาว 4 จุดและประเทศเมียนมา 2 จุด รวมทั้งมีจุดผ่อนปรนอีก 10 จุดติดต่อกับประเทศละ 5 จุด ซึ่งหลังจากเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ แล้วมีกำหนดจะเปิดพรมแดนในวันที่ 1 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป และประสานงานภายในจังหวัดว่าประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับจังหวัดเชียงรายมีความพร้อมก่อนเราก็พร้อมที่จะเปิดก่อน วันนี้จึงเชิญหน่วยงานต่างอาทิ ด่านศุลกากร, ตม., ฉก.ม.3, สาธารณสุข, ด่านกักสัตว์และด่านตรวจพืช มายืนยันความพร้อม ส่วนกรณีของ สปป.ลาว ได้มีการประกาศเปิดประเทศไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาเป็นต้นมาดังนั้นตนจึงจะมีหนังสือไปถึงแขวงบ่อแก้วเพื่อร่วมประชุมในเวลา 13.30 น.วันที่ 17 พ.ค.นี้ ณ ด่านพรมแดน อ.เชียงของ ตรงสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ซึ่งหากทาง สปป.ลาว มีควาพร้อมก็จะเปิดด่านพรมแดนให้คนเข้าออกได้ทั้งอำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของโดย อำเภอเชียงแสน มี 4 จุด เป็นด่านถาวร 2 จุดได้แก่สามเหลี่ยมทองคำและหน้าอำเภอ จุดผ่อนปรนชั่วคราว 2 จุด คือบ้านสบรวก ขณะที่อำเภอเชียงของจะเปิด 3 จุด ได้แก่ จุดผ่านแดนถาวรคือตรงสะพานฯ ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4, ด่านท่าเรือบั๊ก และท่าขนส่งสินค้าหาดบ้าย(ท่าผาถ่าน) ในวันที่ 18 พ.ค.ได้เลย โดยเงื่อนไขผู้เดินทางเข้ามาคือเป็นคนสัญชาติไทย และหากไม่ใช่คนสัญชาติไทยต้องมีเอกสารเข้าเมืองถูกต้อง เช่น หนังสือผ่านแดนหรือบอร์เดอร์พาสและอยู่ตามกำหนดเวลา มีผลการตรวจ ATK ไดัรับวัคซีนครบถ้วน ถ้าไม่มีก็กักตัว 5 วัน เป็นต้น
ส่วนทางประเทศเมียนมา จังหวัดเชียงรายได้หนังสือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็กผ่าน หน่วยประสานงานชายแดนไทย-พม่า ประจำพื้นที่ 1 (TBC) ประชุมในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ที่ด่านพรมแดน อ.แม่สาย ทั้งนี้ที่ประชุมของจังหวัดเห็นชอบให้รอฝั่งประเทศเมียนมาที่อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับรัฐบาลกลางของเมียนมา ซึ่งถ้าทางเมียนมาอนุมัติให้มีการเปิดด่านซึ่งจะเปิดทั้งจุดผ่านแดนถาวรที่ติดกับประเทศเมียนมาทั้ง 2 จุดและจุดผ่อนปรนอีก 5 จุด เราก็เปิดได้ทันที สำหรับท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จังหวัดได้ทำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคคิดต่อเรียบร้อยแล้ว ถ้า ศบค.เห็นชอบก็สามารถเปิดดำเนินการท่าอากาศยานนานาชาติได้ทันที
ขณะเดียวกันทางชมรมสื่อออนไลน์ นำโดยนายจักรภัทร แสนภูธร ประธานชมรมสื่อออนไลน์ พร้อมคณะกรรมการชมรมและสมาคมสื่อมวลชนเอเชีย(แห่งประเทศไทย) ได้เดินทางไปยังอำเภอเชียงของ เพื่อรับคำฟังบรรยายสรุปบริบท การท่องเที่ยวอำเภอเชียงของ โดยมีนายวิรุฬห์ สิทธิวงศ์ นายอำเภอเชียงของ เป็นประธาน พร้อมให้คำแนะนำ ถึงความเป็นเมืองเก่าของอำเภอเชียงของ ที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยกรุงหิรัญนครเงินยาง(เชียงแสน) เดิมมีชื่อเรียกว่า “เมืองขรราช” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองเชียงของ และขึ้นกับนครนันทบุรี (น่าน) โดยเจ้าผู้ครองนครน่านได้แต่งตั้งให้เจ้าอริยวงศ์เป็นเจ้าเมืองคนแรก เมื่อปีพุทธศักราช 1805 และก็มีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมา จนถึงรัฐศักราช 129(พ.ศ. 2453) มีเจ้าเมืองเป็นคนสุดท้าย และในปีพุทธศักราช 2457 ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นอำเภอเชียงของ โดยแต่งตั้งให้พญาจิตตะวงศ์ วรยศรังสี เป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอเชียงของได้นิยามตนเองว่า “เมือปลายทางแห่งความสุขที่หลากหลาย” ที่ผสมผสานกับการเป็นเมืองเก่า เมืองแห่งวัฒนธรรม เมืองที่หลากหลายทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้ทางอำเภอได้สร้างจุดท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์ค แห่งใหม่เช่น ระเบียงริมโขง เสาพญานาคริมแม่น้ำโขง ศรัทธา แห่งใหม่ของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย คือ ลานประติมากรรม(Street Art), พิพิธภัณฑ์ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองเชียงของ Museum of Old Photos Chiangkhong ก่อนแวะนมัสการพระพุทธรูป, มณฑปเก่าแก่อายุ 1,300 ปี และพระแก้วหินหยก หรือวัดศรีบุญเรือง(ชื่อเดิม) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราว พ.ศ. 1240 ต่อมาสมัยเจ้าอริยะ ผู้ปกครองเมืองเชียงของได้บูรณะวัดครั้งใหญ่ จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดพระแก้ว” เมื่อครั้นเจ้าไชยเชษฐา ผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นราชบุตรพระเจ้าโพธิสารศาล กษัตริย์ลาว ประสูติจากพระนางยอดคำทิพย์ ราชธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ ได้นำพระแก้วมรกตไปเมืองหลวงพระบางเพื่อร่วมงานพระศพของบิดา ในระหว่างทางได้นำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรมาประดิษฐานอยู่ที่วัดแห่งนี้ชั่วคราว ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านได้ร่วมสร้างพระแก้วมรกตจำลองขึ้นองค์ใหม่จากหินแม่น้ำโขง ในสมัยรัชกาลที่ ๙ วัดพระแก้ว
อำเภอเชียงของแห่งนี้ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดที่มีอายุเก่าแก่ถึง 300 ปี นั้นคือท้าวเวสสุวรรณ ถือเป็นท้าวเวสสุวรรณองค์แรกของประเทศไทยก็ว่าได้
พระธันยกร (อนันทรังสรรค์) วิสารโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระแก้ว ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงรายกล่าวว่า ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ถูกทิ้งไว้ในโบสถ์หลังเก่ามานานคู่วัด มีอายุ 200-300 ปี ต่อมาได้ย้ายมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าโบราณ ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้เป็นไม้แกะศิลปะสิบสองปันนา รูปทรงงอวบอ้วน หน้ายิ้ม ไม่ดุ ศิลปะแตกต่างจากท้าวเวสสุวรรณของไทยในปัจจุบัน ท้าวเวสสุวรรณองค์นี้ถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้รับความสนใจ จนมีโยมรายหนึ่งที่ชอบมาทำบุญที่วัดและเดินผ่านท้าวเวสสุวรรณองค์นี้เป็นประจำได้เอ่ยปากขอโชคลาภหากมีถูกหวยรวยโปจะสร้างแท่นประดิษฐานไว้ให้ซึ่งต่อมาก็ถูกรางวัลจึงได้ทำแท่นบูชาไว้หน้าโบสถ์จนถึงวันนี้ ประจวบกับปีนี้มีความเชื่อกันว่าแก้ปีชงต้องบูชาท้าวเวสสุวรรณจะช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาทั้งคนที่บูชาจะประสบความสำเร็จทุกประการ
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางอำเภอเชียงของมีห้องห้องพักกว่า 600 แห่งรองรับนักท่องเที่ยวไม่ว่าโรงแรมน้ำโขงริเวอร์ไซด์ อ.เชียงของ, โรงแรมเชียงของ ทีค การ์เดน ริเวอร์ฟรอนต์ ออนเซ็น, โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์ วิวเชียงของ, เชียงของกรีนริเวอร์ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มีความพร้อมเป็นอย่างมากในการต้อนรับแขกแก้วผู้มาเยือน