สัมผัส “ทางเลิ๊ก” ศิลปะทางธรรมชาติ Unseen แห่งใหม่ที่ตำบลอีง่อง
องค์การบริหารส่วนตำบลอีง่องผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนชาว ต.อีง่อง อ.จตุรพักพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ร่วมกับสมาคมศิลปินอีสาน จัดโครงการสร้างสรรค์ศิลปกรรม “วาดแผ่นดินอีสาน” ณ ทางลึก หรือชาวอีสานเรียกว่า”ทางเลิ๊ก” ณ บ้านหนองบั่ว หมู่ 7 โดยมีเหล่าศิลปินจากจังหวัดต่างๆ และประชาชนร่วมกิจกรรมอย่างคึกคัก
นายพิชิต หอมพุ่ง นายก อบต. อีง่อง เปิดเผยว่า การรวมตัวกันของศิลปินภาคอีสานในครั้งนี้ เพื่อมาวาดภาพศิลปะทางเลิ๊ก ซึ่งเกิดขึ้นเองจากธรรมชาติ และหาดูได้ยากในครั้งนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า ในตำบลอีง่อง นอกจากเรามีของดีในชุมชน ทั้งป่าชุมชนแหล่งเก็บเห็ดขึ้นชื่อ ตลอดจนสินค้าพื้นเมืองแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญที่เป็น Unseen ซึ่งเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ผ่านกาลเวลาอันยาวนานนับร้อยปีที่สวยงาม มีความเป็นอัตลักษณ์ จากความลึกของชั้นดินโดยเฉลี่ย 3 – 3.50 เมตร ยาวประมาณ 400 เมตร โดยเหล่าศิลปินอีสานพยายามจะถ่ายทอดถึงมนเสน่ห์ บอกเล่าประสบการณ์ ผ่านภาพเขียนให้ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวได้รู้จัก ได้เข้ามาเยี่ยมชมธรรมชาติแห่งนี้ อันจะทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดี ประชาชนมีรายได้ จากการนำสินค้าพื้นเมือง สินค้าพื้นถิ่น สินค้าโอทอป มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนด้วย
ดร.ศักชัย อุทธิโท นายกสมาคมศิลปินอีสาน เปิดเผยว่า สมาคมศิลปินอีสาน ได้จัดโครงการวาดแผ่นดินอีสานขึ้น โดยการหาจุดที่เป็นธรรมชาติแปลกใหม่น่าสนใจทั่วภาคอีสายมาถ่ายทอดทางศิลปะลงบนแผ่นกระดาน
โดยก่อนหน้านี้คณะได้เดินทางไปวาดภาพ ที่ สามพันโบก จ.อุบลราชธานี ทะเลบัวแดง จ.อุดรธานี และครั้งนี้ ที่ทางลึก ต.อีง่อง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญและน่าสนใจ ที่เหล่าศิลปินอีสานได้คัดเลือก
เพื่อไปนำเสนอและเผยแพร่ให้คนรู้ว่า อีสานเรานี้มีความอุดมสมบูรณ์ มีอะไรเยอะแยะที่ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรม บางคนก็จะเห็นวิถีชีวิต บางคนเห็นภาพวาดสิ่งแวดล้อมที่มันแตกต่างออกไป ในฐานะที่เราเป็นศิลปินเราก็พยายามหามุมมอง และช่วยพื้นถิ่น ช่วยการท่องเที่ยว เชิดชูคุณค่าทางวัฒนธรรมของภาคอีสาน คิดว่าอีสานเป็นดินแดนที่มีความสุข เราก็เลยทำโครงการวาดแผ่นดินอีสาน ซึ่งอยู่ในแนวคิดของศิลปินทุกคน มีศิลปินจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และจังหวัดเชียงราย เป็นต้น
เชื่อว่าในอนาคตที่นี่ จะดึงดูด นักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะเป็นสถานที่ที่มีวัฒนธรรมยาวนาน ไปทำที่ไหนคงไม่ได้ เป็นความพิเศษที่เราจะทำขึ้นหรือเรียนแบบคงไม่ได้ ตนเองก็เพิ่งเคยมาครั้งแรก ก่อนหน้าเห็นภาพจากเหล่าศิลปินวาดมาให้ดู และครั้งนี้มีการรวมตัวกันวาดให้เห็นหลายมุมมอง เพื่อนำไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ต่อไป ดังนั้นที่นี่ถือเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง ที่อยากเชิญชวนทึกท่านมาสัมผัสสัมผัสรากเหง้าของคนอีสานอีกรูปแบบ ต้องมาที่นี่ ตำบลอีง่อง
อาจารย์ไสว แกล้วกล้า ข้าราชการบำนาญ (สมาคมศิลปินอีสาน) เล่าว่าผมได้มีโอกาสเข้ามาเขียนรูป วาดรูปทางเลิ๊กที่นี่ บอกได้เลยว่าเป็นบรรยากาศที่หาดูได้ยากมากเพราะสถานที่ดูแล้วมันลึกจริงๆและเป็น perspective มีแสง เงา ในธรรมชาติที่งดงามน่าส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านศิลปะทางธรรมชาติ บางทีการจะไปท่องเที่ยวไม่จำเป็นจะต้องท่องเที่ยวแต่ในเมือง หรือสถานที่สำคัญเสมอไป ในชนบท ในป่า ในซอกหลืบของแต่ละชุมชนก็เป็นอันซีน Unseen ได้ นับเป็นความโชคดีของชาว ต.อีง่อง ที่มีสถานที่ดังกล่าว เป็นเรื่อง ความสุนทรีทางธรรมชาติ ถ้ามีการนำมาแสดงออกทางศิลปะการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการถ่ายภาพ วาดภาพหรือเขียนภาพ ถือเป็นความสมบูรณ์แบบในวิถีชีวิตอีกสไตล์เลยทีเดียว ส่วนช่วงที่เหมาะมากๆก็คือ ช่วงหน้าหนาว หรือช่วงที่มีแดดจัด ก็สามารถเข้าไปสัมผัสได้เพราะมีร่มเงาจากแมกไม้ ร่มรื่น สะดวกสบาย จะเห็นร่องรอยของดินที่ถูกฝนกัดเซาะ บางจุดมีตะไค่น้ำเกาะเป็นสีเขียวสร้างสีสันตามธรรมชาติด้วย
นางใจทิพย์ ก้านจักร กำนันตำบลอีง่อง กล่าวว่า ชาวตำบลอีง่อง ต้องขอขอบคุณ คุณเชาวฤทธิ์ เตยขาว หรืออาจารย์ตี๋ คุณคมฤทธิ์ วุฒิรัญญกูล ข้าราชการบำนาญ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานศิลปะ ซึ่งเป็นชาวจตุรพักตรพิมาน ที่ได้เล็งเห็นคุณค่าของศิลปะที่ธรรมชาติให้มา และได้ประสานงานกับสมาคมศิลปินอีสาน เข้ามาช่วยถ่ายทอดผลงานด้านศิลปะ ทางเลื๊กของบ้านนองบั่ว หมู่ 7 ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซึ่งถือเป็นมรดกของเรา เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ดูได้เห็น เกิดความหวงแหน และหันมาช่วยกันอนุรักษ์ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เล่าต่อกันมาว่า บริเวณนี้เดิมเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านใช้เป็นทางเกวียน สำหรับไปไร่ไปนา ผ่านเวลามายาวนาน ฝนที่ตกในทุกๆปี ทำให้น้ำกัดเซาะดินบริเวณทางเดิน ทำให้ทางเดินทรุดต่ำลงเรื่อยๆจนเป็นทางลึกและเห็นรากไม้ชนิดต่างๆโผล่ออกมาจากสองด้านในรูปแบบแตกต่างกันไป เกิดเป็นสีสัน แปลกตาที่หาดูได้ยากในอนาคตที่นี่น่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งใหม่ของจังหวัดร้อยเอ็ดต่อไป