กาญจนบุรี – ฝากประชาชนอย่าตื่นตระหนกโรคฝีดาษลิง!! รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ชี้แจงเรื่องโรคฝีดาษลิง
วันนี้ 1 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องรับรอง อาคารมัฌชิมาคาร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี นายแพทย์ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชน เรื่อง โรคฝีดาษลิง ฝากประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกจนเกินเหตุ จากสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ที่มีการรายงานผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วยใน 32 ประเทศ มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 403 ราย ผู้ป่วยสงสัย 88 ราย โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 120 ราย อังกฤษ 77 ราย โปรตุเกส 49 ราย แคนาดา 26 ราย และเยอรมัน 13 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดโรค
สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยภายในประเทศ แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและคัดกรองอย่างเข้มงวดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำหรับผู้ที่มีประวัติเดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการรายงานพบผู้ป่วย โดยให้เฝ้าระวังสังเกตอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ และรายงานเข้าสู่ระบบ Thailand pass เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคระดับจังหวัด/อำเภอ/ตำบล หากพบผู้ป่วยเข้ามาต้องสอบสวนให้ทันภายใน 24 ชั่วโมงแรก ขณะนี้ยังไม่พบการแพร่ระบาดในประเทศไทยและในจังหวัดกาญจนบุรี
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae พบได้ในสัตว์หลายชนิดไม่ใช่แค่ลิง พบได้ในสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น กระต่าย กระรอก หนู และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เป็นต้น โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก กาบอง ไลบีเรีย ไนจีเรีย และเซียร์ราลีโอน และยังพบการแพร่ระบาดไปยังประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ และสหราชอาณาจักร มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ ขณะนี้ต้องเฝ้าระวังใน ประเทศที่มีการระบาด คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกสการติดต่อจากสัตว์สู่คนเกิดจาก การสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การกินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อและปรุงสุกไม่เพียงพอ การติดเชื้อจากคนสู่คนเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน หรืออาจนานถึง 21 วัน โดยอาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย จากนั้น 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง ในระยะสุดท้ายจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา จะมีอาการป่วยประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
นิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีอาการผื่น ตุ่มนูน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเป็นผื่นก่อน ตามด้วยตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด โดยต้องมี 1 ใน 2 อาการนี้ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วัน คือ 1.ประวัติเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส และสเปน 2.ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้เดินทางมาจากต่างประเทศประจำ หรือ 3.ประวัติใกล้ชิดสัมผัสสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่นำเข้าจากแอฟริกา
ส่วนนิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด โดยสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนของผู้ป่วย, เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้องหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษวานร ในระยะ 2 เมตร ตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่ายมารักษาในสถานพยาบาลจะตรวจคัดกรองและเก็บตัวอย่างจากแผลหรือลำคอ เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และพิจารณาแยกกัก เพื่อรอเวลาการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อฝีดาษวานรหรือเป็นโรคอื่นจะจบการแยกกัก แต่หากพบเชื้อหรือเป็น “ผู้ป่วยยืนยัน” จะได้รับการรักษาและแยกกักจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย
การป้องกันควบคุมโรค ปฏิบัติดังนี้
1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
2.หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
3.หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
4.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
5. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังป้องกันโรค แต่อย่าตื่นตระหนก หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากสัตว์ พร้อมทั้งรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
///////////////////////////////////////////////////////////////
ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี