2 ส.ค.65/
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ราชภัฏยะลา ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โชว์นิทรรศการ และเวทีเสวนาเทรนด์ในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น
วันนี้ 2 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องประชุม 200 ชั้น 3 (นัง กา) 23-303 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้
อาจารย์ ดร. ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานกล่าวเปิดงานกิจกรรมการจัดนิทรรศการและการเสวนาวิชาการการเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้จากหนังสือแนวโน้ม และทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2 (Thai Textiles Trend Book Autumn/Winter 2022-2023) ภายใต้โครงการจัดแสดงผลงานองค์ความรู้การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมี อาจารย์ธนวัฒน์ พรหมสุข ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยและพัฒนาชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย ผู้บริหาร บุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วม ระหว่างวันที่ 1- 2 สิงหาคม 2565
นางสาวศิวพร ฉันทไกรวัฒน์ ผู้อำนวยการกลุ่มเผยแพร่และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าววัตถุประสงค์การจัดนิทรรศการดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาประกอบด้วย ประเภทเนื้อผ้า การออกแบบลวดลาย การเลือกสี เทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมไปถึงการจัดแสดงชุดเครื่องแต่งกายต้นแบบ ทั้ง 6 กลุ่มโทนสี ได้แก่ กลุ่มโทนสีม่วงแดงไล่ไปถึงชมพู RIPE AND MATURITY (สุกงอม พร้อมพรั่ง) กลุ่มโทนสีน้ำเงินปนฟ้า PROFOUNDNESS MILD (สุขุมนุ่มลึก) กลุ่มโทนสีน้ำตาลอิฐ HEAVEN ON EARTH (ความมหัศจรรย์จากผืนดิน) กลุ่มโทนสีเหลือง NURTURER OF WISDOM (ผู้โอบอุ้มภูมิปัญญา) กลุ่มโทนสีเขียว A HUMBLE JOURNEY (การเดินทางแห่งประสบการณ์) กลุ่มโทนสีขาวมุก เทา AN ALTERNATIVE PERSUATION (อิสระในการค้นพบตัวเอง)
ภายในงานมีเวทีเสวนาวิชาการ โดยนักออกแบบชื่อดังและอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นและสิ่งทอ นิทรรศการ ฯ การเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้จากหนังสือเล่มดังกล่าว เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในวงการผ้าไทยในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ประกอบด้วย เครือข่ายทางวัฒนธรรมผ้าไทยทั่วทุกภูมิภาค สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้สนใจด้านผ้าไทย ได้เข้าถึงข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์จากหนังสือดังกล่าว ให้สามารถนาความรู้ไปปฏิบัติได้จริง เพื่อใช้พัฒนางาน พัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ต่อไปในอนาคต สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา/