กาญจนบุรี – ครบรอบ 20 ปี การก่อตั้ง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล

กาญจนบุรี – ครบรอบ 20 ปี การก่อตั้ง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล

กาญจนบุรี – ครบรอบ 20 ปี การก่อตั้ง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา “ แนวทาง เกษตรกรรายย่อยของไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโลกปรับ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เทคโนโลยีการเกษตรไม่หยุดนิ่ง ”

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดเสวนา “ เกษตรกรรายย่อยของไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโลกปรับ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เทคโนโลยีการเกษตรไม่หยุดนิ่ง” ได้สรุปข้อมูลการเสวนา ที่เป็นประโยชน์กับ เกษตรกร โดยได้กล่าวว่า เมื่อ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ดร.ประภาพรรณ ซอหะซัน หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้เป็นประธานเปิดกิจกรรมการเสวนาออนไลน์ “เกษตรกรรายย่อยของไทยจะอยู่อย่างไร เมื่อโลกปรับ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เทคโนโลยีการเกษตรไม่หยุดนิ่ง” ในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อตั้ง สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี
โดยได้รับเกียรติจากวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเกษตร ประกอบด้วย ดร.สุริยันตร์ ฉะอุ่ม นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ดร.วันวิสาข์ ปั้นศักดิ์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.สุรวุฒน์ อยู่ยงเวชช์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นายทศพงษ์ คงทองแถว เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer :YSF) จังหวัดกาญจนบุรีและ ดร.นิติพล พลสา วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer :YSF) จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มเกษตรกรรายย่อยในความดูแลของศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานไทรโยค (PDA) นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจทั่วไป ร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์
ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ ผู้ทรงวุฒิ ทั้ง 5 ด้าน ได้ร่วมกันเสนอแนะ แนวทางอันจะเป็นประโยชน์สำหรับเกษตรกร ในเรื่องการปรับตัว ของเกษตรกรรายย่อยให้ทันต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนี้
ดร.สุริยันตร์ ฉะอุ่ม นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้ให้แนวทางการปรับตัว ว่า “ ไม่ว่าเกษตรกรไทยจะเก่งแค่ไหนก็ตาม ปัจจุบันมีหลากหลายสาเหตุปัญหาที่ควบคุมไม่ได้และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ไวรัสในมันสำปะหลังที่มาจากต่างประเทศเกษตรกรเก่งแค่ไหนก็ป้องกันหรือกำจัดไม่ได้ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วย ปัญหาเกิดขึ้นมากมายนักวิชาการภาครัฐมีของมีเทคโนโลยีแต่ไม่สามารถเอาไปแจกให้รายย่อยทุกคนได้ ต้องมีการปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของคนในพื้นที่ ปรับเทคโนโลยีให้เข้ากับปัญหาในพื้นที่จึงจะแก้ไขได้ ดังนั้นเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยด้านการผลิต แต่ภาครัฐก็ไปช่วยสอนเกษตรกรทุกคนไม่ได้ เกษตรกรควรรวมกลุ่มเข้าไปหาภาครัฐ พูดคุยกันให้ตกผลึกว่าปัญหาคืออะไร เทคโนโลยีจะช่วยแก้ไขได้อย่างไร ทำให้เดินหน้าไปร่วมกันได้อย่างสะดวก ที่สำคัญเกษตรกรอย่าเดินคนเดียวต้องมีการรวมตัวรวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนกัน ช่วยเหลือกัน ”
ดร.วันวิสาข์ ปั้นศักดิ์ เสนอแนวทางว่า “ เกษตรกรรายย่อยจะต้องรู้จักดินในพื้นที่ของตัวเองให้มากที่สุดก่อน เพื่อเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดขึ้นกับดินในสวน ไร่ นา ของเรา ถัดมาควรรวมกลุ่มวางแผนการผลิต สร้างรายได้รายวัน รายเดือน รายปีเพื่อลดความเสี่ยง ถัดมาคือเรื่องของเทคโนโลยี เกษตรกรรายย่อยควรเปิดใจรับ ศึกษาเรียนรู้มันไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีชนิดใด เพราะวันนึงเทคโนโลยีต้องมาถึงมือเราแน่นอนถ้าเลือกให้เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับการผลิตของเรา”
ผศ.ดร.สุรวุฒน์ อยู่ยงเวชช์ ได้ให้ความเห็นว่า “ เกษตรกรรรายย่อยควรรวมกลุ่ม กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เวลาที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนก็จะทำให้เกิดการเสริมโอกาสทำให้เดินหน้าไปได้เร็วและถูกทาง ที่สำคัญเกษตรกรรายย่อยไม่ควรจะทำเกษตรตามกระแส เพราะตามกระแสจะมาเร็วไปเร็ว ควรปลูกพืชที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวันแล้วนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเข้าไปช่วยทำให้การผลิตได้ผลดีขึ้นทั้งคุณภาพและปริมาณ”
นายทศพงษ์ คงทองแถว กล่าวว่า “ การวางแผนทางการเงิน เงินลงทุนสำรอง เอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินอย่ากู้เงินมาลงทุนทำเกษตรทีเดียวครั้งละมาก ๆ ต้องมีการจัดการเงินทุนสำรองให้ดี ต้องรู้จักพืช รู้จักสัตว์ ที่เราปลูกเลี้ยงให้ดี พร้อมทั้งต้องพยายามเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาใช้ ส่วนเรื่องการรวมกลุ่มจะช่วย ทำให้รู้จักคนในหลากหลายวงการ อย่างเช่น การรวมกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้เกิดการแชร์ความรู้ได้หลากหลาย แก้ปัญหาได้ ช่วยผลักดันสินค้า สามารถขยายธุรกิจไปได้กว้างขึ้น ”
ดร.นิติพล พลสา กล่าวว่า “ ปัญหาปศุสัตว์ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมารุนแรงมาก ทั้งโรคโควิดในคนทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โรคที่เกิดในวัว ในหมู ส่งผลต่อคนเลี้ยงและคนกิน เกษตรกรรายย่อยควรปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการผลิตให้มากขึ้น เช่น มาตรฐาน จีเอพี (GAP) เพื่อให้สามารถเข้าถึงยา วัคซีน การตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตให้มากขึ้น นอกจากนั้นในเรื่องของราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นควรใส่ใจเรื่องของเทคโนโลยี ความรู้ต่าง ๆ เพื่อเอามาใช้แก้ไขปัญหา ”
และ ได้มีคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา ถึงแนวทาง จะแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรรายย่อยได้อย่างไร!
ดร.สุริยัน กล่าวว่า “เป็นวังวนสมัยผมทำนาอยู่ต่างจังหวัดก็เป็นแบบนี้ผ่านไป 20 ถึง 30 ปีก็เป็นแบบนี้ เราควรใช้เครื่องมือทางธุรกิจมาจัดการ ควรวางแผนทางธุรกิจ เช่น ปลูกพืชหลากหลายลดความเสี่ยง สร้างช่องทางรายได้ให้หลากหลายขึ้น”
ดร.นิติพล กล่าวว่า “ แผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนั้นควรขยับไปให้ถึงการสร้างแบรนด์ การรวมกลุ่มก็เป็นเรื่องสำคัญ ”
คุณทศพงศ์ กล่าวว่า “เกษตรกรรายย่อย ควรจะทำบัญชี ควรจะจดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อให้เห็นยอดรายรับรายจ่ายของตัวเอง จะเห็นว่าการทำเกษตรของเรามีปัญหาที่จุดใด ”
ผู้ร่วมเสวนา ดร.อดิศักดิ์ สืบธรรมมา จากมหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า “เกษตรกรควรจัดสรรเงินทุนไม่ว่ากู้หรือไม่กู้มีเงินสำรองเผื่อไว้ และควรมีการจดบันทึกรายรับรายจ่ายตลอดเวลา ”
และอาจารย์ธนากร เที่ยงน้อย อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ได้นำข้อมูล คำถาม สุดท้าย จากผู้เข้าร่วมเสวนาที่ได้สอบถาม เกี่ยวกับวิธีการป้องกันสารตกค้างในเปลือกทุเรียนที่เอามาให้วัวกินอย่างไร ดร.นิติพล พลสา จึงได้กล่าวว่าแนะนำขั้นตอนการสุ่มตรวจสารเคมี ว่า “ขั้นตอนแรก สุ่มตรวจสารเคมีตกค้างที่เปลือกทุเรียนก่อนนำมาย่อย ขั้นตอน ต่อมาคือ จุลินทรีย์บางกลุ่มที่ใช้สามารถย่อยสลายสารเคมีตกค้างในเปลือกทุเรียนได้ ขั้นตอนต่อมาคือ ตรวจสอบถึงสวนทุเรียนในจังหวัดต่าง ๆ ไม่พบว่ามีสารเคมีตกค้าง และขั้นตอนสุดท้าย คือ สุ่มตรวจเปลือกทุเรียนที่หมักแล้วนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน หรือ ห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ”
////////////////////////////////////////////////////


ปรีชา ไหลวารินทร์ / กาญจนบุรี

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม