อำนาจเจริญเปิดศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่งเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุ มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันที่ (5 สิงหาคม 2565) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่ง บ้านท่าอุดม ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานในพิธีเปิดศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ อาจารย์และผู้นำชุมชน อสม. ผู้สูงอายุในพื้นที่ตำบลโนนหนามแท่งเข้าร่วมในพิธี
อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน กล่าวถึง การเปิดศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่งในวันนี้ว่า โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน เป็นโครงการภายใต้ “โครงการพัฒนากลไกสานเสริมพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนพื้นที่รูปธรรมสุขภาวะ ภาคอีสาน (โครงการสานเสริมพลังภาคี)” ที่ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่มีการบูรณาการภาคีเครือข่ายประกอบด้วย โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม มหาวิทยาลัยนครพน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ศูนย์วิจัยและพัฒนาสุขภาวะเชิงพื้นที่ มหาวิทยาลัยนครพนม วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก เครือข่ายไทอีสาน สานสุข (ไทอีสาน โฮมแฮงเบิ่งแญงสุขภาวะ) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ ศูนย์แพทย์โนนหนามแท่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อย องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง โดยการดำเนินโครงการวิจัยฯ มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ โดยมุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม และให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ และสภาพแวดล้อม การดำเนินโครงการวิจัยมีระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน 2565 ถึง เดือน มีนาคม 2566 โดยมีการประชุม ปรึกษา หารือ จัดเก็บข้อมูล และวางแผนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ร่วมกัน เพื่อจัดตั้งศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่งขึ้น โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ จังหวัดอำนาจเจริญ ให้ใช้ศาลา 150 ปี พระมารดานิจจานุเคราะห์ เลขที่ 19 หมู่ 9 บ้านท่าอุดม ตำบลโนนหนามแท่ง เป็นสถานที่ตั้งศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งในระดับจังหวัด และตำบลมีคณะทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 86 คน ซึ่งคณะทำงานทุกคนเป็นครูอาสาประจำศูนย์ดูแลกลางวันฯ และมีการเปิดรับสมัครครูอาสาที่มีความรู้และทักษะที่ได้มีการสมัครมาร่วมสอนในศูนย์ดูแลกลางวัน จำนวน 9 คน และมีแกนนำจิตอาสา ที่สมัครมาเป็นจิตอาสา อีกจำนวน 4 คน คณะทำงานฯ มีการระดมทุน เพื่อจัดตั้งกองทุนศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีผู้ร่วมสมทบทุนจำนวนมากทั้งภายในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ปัจจุบันมีการเปิดรับสมัครสมาชิกในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 299 คน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการเพื่อสร้างการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ทุกวันจันทร์ ถึง ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. โดยมีการจัดฐานการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 12 ฐาน ได้แก่ 1.ฐานป้องกันสมองเสื่อม (โดมิโน) 2.ฐานป้องกันสมองเสื่อม (หมากรุก) 3.ฐานป้องกันสมองเสื่อม (ไพ่) 4.ฐานป้องกันสมองเสื่อม (จังก้า) 5.ฐานป้องกันสมองเสื่อม (บิงโก) 6.ฐานป้องกันการพลัดตกหกล้ม เช่น ตาราง 9 ช่อง ยางยืด ชี่กง โยคะ ลีลาส และบาสโลบ เป็นต้น 7.ฐานปู่ ย่า ตายายเลี้ยงหลาน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยซึ่งเป็นการขยายผลโครงการชี้นำสังคม การพัฒนาเครือข่ายการดูแลเด็กปฐมวัย เขตสุขภาพที่ 10 8.ฐานเสริมสวย เสริมหล่อ วัยเก๋า 9.ฐานสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เช่น การจักสาน การผลิตของเล่นภูมิปัญญา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายสินค้าออนไลน์ การเปิดร้านเครื่องดื่ม และร้านอาหารพื้นบ้าน เป็นต้น10.ฐานรักการอ่านและเรียนรู้ตลอดชีวิต 11.ฐานเกษตรอินทรีย์ เพื่อสุขภาวะ 12.และฐาน ขยะมีค่าประดุจดั่งทองคำ ซึ่งจะมีครูอาสาที่มีความรู้และทักษะมาร่วมสอนในศูนย์ฯ ทุกวัน อีกทั้งมีบริการด้านสุขภาพ เช่น การตรวจคัดกรองสุขภาพ จากทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากโรงพยาบาลอำนาจเจริญ การดูแลสุขภาพช่องปาก และการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีครูอาสาจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ที่จะมีการบูรณาการการเรียนการสอนในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในหลักสูตรวิทยาศาสตร์บันฑิต สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ และหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
ด้านนายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่าโครงการวิจัย การพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชน เป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งมิติด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เป็นองค์กรชั้นนำวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านการเรียนการสอน ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาชนบทแบบบูรณาการในแถบลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยมีพันธกิจที่สำคัญอย่างยิ่งด้านการวิจัย คือ การผลิตงานวิจัยเพื่อพัฒนาตามบริบทของพื้นที่ เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ และจากข้อมูลสถานการณ์ตำบลโนนหนามแท่ง พบว่า มี 14 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 2,471 ครัวเรือน จำนวนประชากรทั้งหมด 11,620 คน มีผู้สูงอายุ จำนวน 1,148 คน คิดเป็นร้อยละ 9.87 ของประชากรทั้งหมด จำแนกผู้สูงอายุเป็นกลุ่มติดสังคม 93.20 กลุ่มติดบ้าน ร้อยละ. 5.92 และกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 0.88 และผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อันดับแรกคือโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 26.91 รองลงมาคือโรคเบาหวาน ร้อยละ 17.85 อีกทั้งมีพฤติกรรมสุขภาพไม่พึงประสงค์ คือไม่ออกกำลังกายถึงร้อยละ 7.4 และผู้สูงอายุมีฐานะยากจน ร้อยละ 3.57 ไม่ได้ประกอบอาชีพและมีรายรับจากเบี้ยยังชีพเป็นส่วนใหญ่
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จึงมีเป้าหมายในการพัฒนางานวิจัยเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและความต้องการตามบริบทพื้นที่ คือโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพและสร้างรายได้สำหรับผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุโดยชุมชนขึ้น ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี คือ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐและการเมือง จะนำไปสู่การการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในทุกมิติ และพัฒนาศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้ผู้สูงอายุออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือกัน โดยมีการบูรณาการการทำงานจากทุกภาคส่วน ได้แก่ 1) สถาบันวิชาการในพื้นที่ ได้แก่ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์54 และ กศน.ตำบลโนนหนามแท่ง 2) เครือข่ายสถาบันทางวิชาการ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ (1) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม มหาวิทยาลัยนครพนม (2) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร และ (3) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก 3) หน่วยบริการสุขภาพ ได้แก่ ศูนย์แพทย์โนนหนามแท่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านคำน้อย และโรงพยาบาลอำนาจเจริญ 4) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง 5) องค์กรท้องที่ ได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 6) แกนนำภาคประชาชน เช่น อสม. ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) อพม. ครูอาสา ปราชญ์ชาวบ้าน จิตอาสา ผู้นำ และ แกนนำชุมชน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โครงจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ จะเป็นกำลังสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานประเด็นผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสร้างการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ เป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน และนำสู่การขยายผลในระยะต่อไป
ทิพกร หวานอ่อน ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอำนาจเจริญ รายงาน