“วันนอร์”ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

“วันนอร์”ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

นราธิวาส-“วันนอร์”ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส พร้อมนำข้อมูลเสนอรัฐบาล เพื่อวางแนวทางในการดูแล และยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพที่มั่นคง ควบคู่กับการบริหารทรัพยากรทะเลให้มีความยั่งยืน “รักษาธรรมชาติได้ แต่ชาวบ้านต้องไม่เดือดร้อน”

วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2565 )ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายอัฟฟาน หะยียูโซ๊ะ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ เขต 1 จ.นราธิวาสและคณะ ลงพื้นที่ชุมชนกาแลปาแย และชุมชนชายทะเล เพื่อพบปะชาวบ้าน และรับฟังปัญหาพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งพรรคประชาชาติได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน จึงได้จัดเวทีประชาคมขึ้นที่ องค์กรประมงช่วยประมงพื้นบ้าน บริเวณหาดนราทัศน์ อ.เมือง จ.นราธิวาส โดยมีกลุ่มประมงพื้นบ้านกว่า 500 คนเข้าร่วมสะท้อนปัญหา และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้าน ปัญหาค่าไฟ และปัญหาปากอ่าว เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาด้านการออกเรือทำประมง ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ และโดนยึดเรือที่ทำกิน ทั้งนี้ยังได้ช่วยชี้แนวทางในการทำมาหากินให้แก่พี่น้องชาวประมงอีกด้วย

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่ตำบลบางนาคเป็นบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านของชาวประมง มีผู้คนอาศัยอยู่หลายพันคนและเป็นชุมชนที่มีความเดือดร้อนมาก เพราะส่วนใหญ่ฐานะยากจน ซึ่งนายหนึ่งหลังคาเรือนอยู่กันหลายคน และสิ่งที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่นี้มีอยู่ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
เรื่องที่ 1. เนื่องจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่นี่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัยอยู่ แต่เป็นพื้นที่ของเอกชน และส่วนใหญ่เป็นที่ดินของกรมเจ้าท่า ซึ่งเวลาขอไฟฟ้าเขาไม่ให้เป็นของตัวเอง ก็ให้เป็นของไฟฟ้ากลาง ซึ่งการเก็บค่าไฟฟ้าแพงกว่าคนธรรมดาถึง 3 เท่าในบ้านหลังหนึ่งใช้ไม่กี่ดวงแต่ต้องเสียค่าไฟถึงพันกว่าบาท ซึ่งชาวบ้านได้ร้องเรียนมายังพรรคประชาชาติแล้วโดยผ่าน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้ดำเนินเรื่องด้วยตนเอง และได้มีการประสานไปที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วโดยการไฟฟ้าพร้อมที่จะลดราคาไฟฟ้าให้เหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่ต้องได้รับการยินยอมจากกรมเจ้าท่าที่เป็นเจ้าของที่ว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่นี้เขายินยอมให้อยู่ และทางจังหวัดในฐานะเป็นผู้ปกครองท้องที่ว่า คนเหล่านี้เป็นคนยากจนจริง และมีความประพฤติเรียบร้อย และทำมาหากินประมง ซึ่งไปอยู่ที่อื่นไม่ได้เพราะต้องเฝ้าเรือออกประมงมาขายที่นี่ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่มากกว่า30 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคประชาชาติได้มาเห็นคือความเดือดร้อนอีกมุมหนึ่งของประชาชนคนยากจนคือชาวประมง

เรื่องที่ 2. และที่เป็นปัญหาถาวรคือเรื่องของการทำมาหากินคือเรื่องการทำประมง เนื่องจากว่าชาวบ้านในพื้นที่นี้ทำมาหากินเป็นประมงพื้นบ้าน เพราะฉะนั้นก็มีปัญหาข้อกฎหมายเยอะ เช่นออกไปเขตไหนได้บ้างและไม่ได้บ้างเกินกว่าที่กำหนดก็ต้องเสียค่าปรับแพงมาก และเครื่องมือในการทำมาหากิน ซึ่งเครื่องมือที่ทำมาหากินบางฤดูกาลต้องใช้อย่างหนึ่ง และบางฤดูกาลก็ต้องใช้อีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาประมงไปตรวจเขาก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ถูกปรับค่อนข้างที่จะแพง ซึ่งพรรคประชาชาติเองได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวประมงไม่ใช่แค่เพียงจังหวัดนราธิวาสแต่รวมไปถึงจังหวัดปัตตานีและจังหวัดสมุทรสาครด้วย ซึ่งในขณะนี้เราได้เอาปัญหาเหล่านั้นมาประชุมแล้ว ซึ่งก็เห็นสมควรว่าควรแก้กฎหมายการประมง ซึ่งขณะนี้พรรคประชาชาติได้ร่างกฎหมายประมงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลักๆจะให้มีกองทุนของประมงและเรื่องการแก้ปัญหารวมถึงบทลงโทษไม่ควรที่จะรุนแรงสำหรับคนที่ทำมาหากินอย่างสุจริตและอีกหลายๆประการเป็นต้น

ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ตนเป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งแต่ปี 2529 ซึ่งการประมงนั้นได้แก้ปัญหาเป็นขั้นเป็นตอนตามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเหล่านี้คิดว่าเป็นเรื่องของเทศบาลเป็นตัวหลักต้องมีการประชุมและถ้าเราได้ สส.มาแล้ว ก็เป็นเรื่องของ สส.แล้ว ที่จะเป็นคนดำเนินเรื่องอันไหนที่ขัดต่อระเบียบกฎหมายก็จะเป็นหน้าที่ของ สส. แม้กระทั่งเรื่องของงบประมาณก็เช่นเดียวกัน และการทำประมงที่เป็นปัญหาในขณะนี้ประมงชายฝั่งที่สามารถออกไปหาปลาเกิน 3 กิโล ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านได้มีการเรียกร้องมานานว่าจะให้เพิ่มระยะทางจาก 3 กิโล เป็น 5 กิโล ซึ่งจะเป็นการกันไม่ให้เรืออวนลากเข้ามารุกที่ ซึ่งถ้ากฎหมายนี้มีการขยาย ประมงพื้นบ้านก็จะสามารถทำมาหากินได้ไกลขึ้น นอกจากนี้แล้วเราต้องมีประการังเทียม ซึ่งถ้าเรามีปะการังเทียมชาวบ้านก็จะสามารถจับปลาได้เยอะขึ้น ซึ่งชาวบ้านก็จะได้รับประโยชน์มากเช่นกัน ซึ่งอยากให้เป็นภารกิจของ สส. ที่จะเป็นตัวแทนของชาวบ้านที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของชาวประมงให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ต่อไป

ขณะที่ น.ส.สิริมา สะนิ ประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนมากทำอาชีพประมงพื้นบ้าน แล้วส่วนใหญ่จะอยู่ริมคลอง ซึ่งจะมีปัญหาเกี่ยวกับค่าไฟและน้ำประปา ค่าใช้จ่ายสูงเพราะชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่แล้วหาเช้ากินค่ำแล้วบางบ้านมีรายได้น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ ซึ่งได้รับผลกระทบในส่วนของค่าไฟแพงกว่าเพราะเป็นบ้านชั่วคราว ชาวบ้านที่นี่จะเป็นบ้านเลขที่ชั่วคราวทั้งหมด แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ได้บ้านเลขที่ถาวร ซึ่งแต่ละปีจะเพิ่มอัตราการเก็บค่าไฟแต่ละยูนิต ชาวบ้านเดือดร้อนมากเพราะค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งบางบ้านค่าไฟสูงถึง 800-1,600 บาท จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เข้ามาวันนี้ ดูแลชาวบ้านอยากให้ชาวบ้านได้บ้านเลขที่ถาวร เพื่อจะได้ขอไฟถาวรและน้ำประปาด้วย

ปทิตตา หนดกระโทก ผู้สื่อข่าว นราธิวาสรายงาน

การเมือง