อธิบดีผู้พิพากษาภาค3 เพิ่มทักษะกฏหมายใหม่ให้แก่ผู้ประนีประนอมศาลจังหวัดศรีสะเกษ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ห้องประชุมศาลจังหวัดศรีสะเกษ นายวีรภัทร ไพบูลย์วัฒนากิจ อธิบดีผู้พิพากษาภาค3 พร้อมด้วยนางฉวีวรรณ วิมล รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค 3 นายกฤษดา ศรีกัลยา เลขานุการศาลยุติธรรมประจำภาค 3 และคณะข้าราชการศาลยุติธรรมประจำสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค 3 ได้ร่วมเดินทางตรวจราชการและนิเทศงานธุรการที่ศาลจังหวัดศรีสะเกษและได้เป็นประธานการประชุมคณะผู้ประนีประนอมของศาลจังหวัดศรีสะเกษ โดยมีนายพงศ์ทิพย์ กลัมพะสุต ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดศรีสะเกษ และนางนุจริน ใจกล้า ผู้อำนวยการศาลจังหวัดศรีสะเกษ นำคณะผู้ประนีประนอมศาลจังหวัดศรีสะเกษ ประกอบด้วย นายธงชัย ทวีสุขศิริ ดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ พล.ต.ต. พินิจ ศรีสรานุกรม นายกรีศักดิ์ ไพบูลย์ พ.ต.อ. ประจวบ จันทร์ประวิทย์ และคณะ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายวีรภัทร ไพบูลย์วัฒนากิจ อธิบดีผู้พิพากษาภาค3 กล่าวว่า คดีของศาลจังหวัดศรีสะเกษปีที่แล้ว 20,002 คดี เสร็จไป 19,000 กว่าคดี คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 87% เป็นศาลจังหวัดที่มีคดีมากที่สุดในภาค3 เพราะจังหวัดอุบลฯ มีศาลแขวงได้ 20,006 คดี แต่ศรีสะเกษเป็นศาลจังหวัดอย่างเดียวแต่ทำหน้าที่ศาลแขวงด้วย ส่วนหนึ่งของคดีที่สำเร็จก็อาศัยผู้ประนีประนอมที่มาเป็นผู้ไกล่เกลียจนได้ข้อยุติ ถือเป็นผลงานของผู้ประนีประนอมด้วย ซึ่งในยุคปัจจุบัน ศาลได้นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาช่วยทำงานของศาลทุกมิติ ตั้งแต่การติดตั้งประชาสัมพันธ์และมีคิวอาร์โค้ดจากดิจิตอลคอร์ดไปสู่สมาร์ทคอร์ท นำศาลไปสู่องค์กรการทำงานที่มีความสมบูรณ์ไนทุกๆด้าน ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่ มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยการไกล่เกลี่ยทางออนไลน์ทั้งก่อนฟ้องและหลังฟ้อง มีการแก้กฏหมายวิแพ่ง มาตรา 20 ตรี เป็นวิธีการที่ศาลใช้เป็นกรณีพิเศษ ถ้าศาลเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเองศาลตัดสินได้เลยไม่ต้องมีการฟ้องอีก แต่หน่วยงานอื่นหากไกล่เกลี่ยแล้วถ้ามีปัญหาก็ต้องมาฟ้องศาลต่อ ขอฝากผู้ประนีประนอมให้ไกล่เกลี่ยยุติข้อพิพาทโดยศึกษาก่อน ดูจุดอ่อนจุดแข็ง แนะแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่คู่ความทั้งสองฝ่าย หากยุติข้อพิพาทโดยทั้งสองฝ่ายพอใจถือเป็นการทำบุญชนิดหนึ่ง เพราะทุกคนที่มาศาลมาด้วยความทุกข์ ถ้าเราทำให้เขาสบายใจเราก็มีความสุขไปด้วย ในจังหวัดศรีสะเกษถ้าทำคดีสำเร็จ ศรีสะเกษสงบสุขบ้านเมืองก็น่าอยู่ จึงต้องช่วยกันทำให้น่าอยู่ เรื่องไกล่เกลี่ยไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ ใช้วิธีการที่ยุติธรรมและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เดี๋ยวนี้ระบบศาลมีการให้ลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์และมีการประกันทางออนไลน์ได้ คู่ความสามารถยื่นมาที่ศาล ศาลอาจจะให้สาบานทางอิเล็กทรอนิกส์หรือประกันด้วยหลักทรัพย์สิ่งเหล่านี้เป็นการทำงานให้สำเร็จเร็วขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาของประชาชนต่อไป
ดร กัลยาณี ธรรมจารีย์ ผู้ประนีประนอมศาลจังหวัดกล่าวว่า ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ว่างเว้นการพบปะปรึกษาหารือระหว่างผู้พิพากษาและผู้ประนีประนอม การที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค3 เดินทางมานิเทศงานครั้งนี้ทำให้ผู้ประนีประนอมได้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของกฏหมายใหม่ เสริมทักษะศักยภาพของผู้ประนีประนอม ให้ได้เรียนรู้เทคนิคและแนวทางที่มีประโยชน์ในการนำไปปรับใช้ในเรื่องไกล่เกลี่ย และได้มีโอกาสถามตรง เพราะถึงแม้สำนักยุติธรรมจะจัดให้มีการอบรมการไกล่เกลี่ยทางออนไลน์ แต่ก็ไม่เหมือนกับได้ถาม-ตอบจนหายข้อข้องใจแบบนี้ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประนีประนอมทุกคนมีความยินดีมาก
ข่าว/ภาพ…… บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ