จังหวัดอุตรดิตถ์จัดพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ก่อนเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดประจำปี 2564
เมื่อเวลา 07.29 น.ของวันที่ 17 มี.ค.64 ที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหักวีรบุรุษของชาวไทยและชาวอุตรดิตถ์ หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นายผล ดำธรรม ผวจ.อุตรดิตถ์ นางวันทนา ดำธรรม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นประธานในพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ก่อนที่จะเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดประจำปี2564
โดยนางสาวงามจิต อ้นยาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ มีนายพิภัช ประจันเขตต์ รองผวจ.นายสหวิช อภิชัยวิศรุตกุล รองผวจ.นางฉวีวรรณ ประจันเขตต์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุตรดิตถ์ นายจรัล กาญจนปัญญานนท์ ปลัดจังหวัดอุตรดิตถ์ นางสิรินาถ ฉัตรศุภกุล ผอ.ททท.สนง.แพร่ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมในพิธีบวงสรวงพระยาพิชัยดาบหัก ก่อนที่จะเปิดงานพระยาพิชัยดาบหักและงานกาชาดประจำปี2564 ในระหว่างวันที่17-28 มีนาคม 2564 ณสนามกีฬาพระยาพิชัยดาบหักหน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์สำหรับ“พระยาพิชัยดาบหัก” นั้น คนไทยได้เรียกและได้เล่าขานกันมานานมากกว่า 200 ปี แล้วตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยมีปรากฎข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนหนึ่งว่า “….ครั้งถึง ณ เดือนอ้ายข้างขึ้น โปสุพลายกกองทัพมาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยก็ยกพลทหารออกไปต่อรบแต่กลางทางยังมาไม่ถึงเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพระพิษณุโลกขึ้นไปช่วย ได้รับกับพม่าเป็นสามารถ และพระยาพิชัยถือดาบสองมือคุมพลทหารออกไปไล่ฟันพม่าจนดาบหัก จึงเลื่องชื่อปรากฎเรียกว่า พระยาพิชัยดาบหักแต่นั้นมา….”
พระยาศรีสุชนาลัยบดี (เลี้ยง ศิริปาละกะ) ซึ่งเป็นชาวพิชัยโดยกำเนิด ได้รวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหักไว้เมื่อ พ.ศ. 2466 ได้เผยแพร่ในหนังสือเสนาศึกษาเมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2467 นำมาเรียบเรียงใหม่ดังนี้…
พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ “จ้อย” เกิดที่บ้านห้วยคา หลังเมืองพิชัยไปทางทิศ ตะวันออกประมาณ 100 เส้นเศษ (ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวจังหวัดอุตรดิตถ์ได้จัดสร้างเป็นโครงการบ้านเกิดพระยาพิชัยดาบหัก) บิดาและมารดามีอาชีพทำนา โดยมีบุตรด้วยกัน 4 คน แต่เป็นไข้ ทรพิษตายในคราวเดียวกันถึง 3 ราย จึงเหลือจ้อยคนเดียว เมื่อจ้อยอายุได้ 8 ขวบ บิดาได้นำไปฝากไว้กับท่านพระครูวัดมหาธาตุในเมืองพิชัยเพื่อให้เรียนหนังสือ จนจ้อยอายุย่างเข้า 14 ปี ก็สามารถอ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี ในขณะอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้นจ้อยชอบดูการชกมวยมาก และเมื่อมีเรื่องชกต่อยกับเด็กวัดด้วยกันจ้อยก็สมารถเอาชนะได้ทุกคน ต่อมาเจ้าเมืองพิชัยได้นำบุตรชายชื่อเจิดกับเด็กรับใช้อีก 3 คน มาฝากเรียนหนังสือกับท่านพระครู อยู่มาวันหนึ่งเจิดและ ลูกน้องได้เกิดการทะเลาะวิวาทชกต่อยกับจ้อย จ้อยเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากเจิดเป็นบุตรชายของเจ้าเมือง จึงได้หนีไปโดยตั้งใจว่าจะไปบ้านท่าเสาเพื่อที่จะไปฝึกหัดชกมวยที่นั่นด้วย แต่ระหว่างที่เดินทางถึงวัดบ้านแก่งได้เห็นครูเที่ยงกำลังสอนมวยอยู่จึงสมัครเข้าเป็นศิษย์ และเพื่อไม่ให้คนจำได้ จึงเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า “ทองดี” เนื่องจากทองดีไม่เคี้ยวหมากเหมือนคนทั่วไปในสมัยนั้น จึงมักถูกเรียกว่า “นายทองดีฟันขาว”
นายทองดีฝึกมวยอยู่กับครูเที่ยงด้วยความตั้งใจจนมีฝีมือเป็นเลิศกว่าลูกศิษย์คนอื่นและได้ปรนนิบัติดูแลรับใช้ครูเป็นอย่างดีสม่ำเสมอ กระทั่งอยู่ต่อมาศิษย์รุ่นเก่าของครูเที่ยง 4 คน เกิดอิจฉาที่นายทองดีเป็นศิษย์รักของครู จนเกิดเรื่องชกต่อยกัน นายทองดีเห็นว่าอยู่ต่อไปก็ไม่มีความสุข จึงขอลาครูเที่ยงเดินทางติดตามพระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งจะไปนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ โดยนายทองดีได้ไปพักที่วัดบางเตาหม้อ ไม่นานก็ลาพระภิกษุรูปนั้นไปหาครูมวยที่ท่าเสาชื่อ “ครูเมฆ” เพื่อขอเป็นศิษย์ฝึกหัดวิชามวยตามที่ตั้งใจไว้แต่ตอนแรก ในระหว่างนั้นขณะที่นายทองดีอายุได้ 18 ปี ได้แสดงความสามารถโดยการติดตามผู้ร้ายที่เข้ามาลักขโมยควายของครูเมฆจนได้ควายกลับคืนมา และได้ฆ่าคนร้ายตาย 1 คน จับคนร้ายได้อีก 1 คน นายทองดีจึงได้รับการชมเชย และ ได้รับบำเหน็จรางวัลจากกรมการตำบลบางโพท่าอิฐสำหรับความสามารถและคุณงามความดี ในครั้งนั้นถึง 5 ตำลึง
นายทองดีได้มีโอกาสแสดงฝีมืออีกครั้งหนึ่งด้วยการชกมวยในงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ โดยชกชนะนายถึกซึ่งเป็นศิษย์มวยของครูนิล และยังได้ชกชนะครูนิลอีกด้วย ในคราวเดียวกัน ทำให้ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่มีนักมวยคนใดในแขวงเมืองพิชัย เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแลและเมืองฝาง กล้ามาขันสู้ในเชิงชกมวยกับนายทองดีอีกเลย ต่อมาอีก 3 เดือน พระสงฆ์จากเมืองสวรรคโลกได้ชักชวนนายทองดีเดินทางไปเมืองสวรรคโลกด้วย และได้ฝากนายทองดีไว้กับครูฟันดาบผู้ฝึกการฟันดาบให้กับบุตรเจ้าเมืองสวรรคโลก นายทองดีได้ฝึกหัดการต่อสู้ด้วยดาบอยู่ประมาณ 3 เดือน ได้ซ้อมฟันดาบกับบุตรชายเจ้าเมืองสวรรคโลกอย่างคล่องแคล่วจนจบหลักสูตร จึงได้ลาครูฟันดาบเดินทางไปเมืองสุโขทัยและได้ไปขอสมัครเป็นศิษย์ครูจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งเพื่อฝึกมวยจีน ซึ่งนายทองดีได้ฝึกฝนอยู่จนสำเร็จเช่นกัน และที่สำนักมวยจีนแห่งนี้เองเด็กชายบุญเกิดได้สมัครเป็นศิษย์ของนายทองดี ซึ่งบุญเกิดได้เป็นผู้ติดสอยห้อยตามนายทองดีในเวลาต่อมา ขณะที่นายทองดีและบุญเกิดอาศัยอยู่ที่วัดธานีได้ประมาณ 6 เดือน ก็มีชาวจีนคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองตากได้เห็นฝีมือของนายทองดีจึงชวนไปเมืองตากด้วยกันโดยเล่าว่าพระยาตากเจ้าเมืองมีความสนใจและชอบคนที่มีฝีมือ ซึ่งในความจริงแล้วการที่ชวนนายทองดีเดินทางไปด้วยนั้นคงต้องการมีเพื่อน เดินทางเพื่อช่วยระวังภัยให้เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าระหว่างทางกลางป่าที่จะไปเมืองตากนั้นมีเสือดุร้ายที่ผู้คนต่างหวาดกลัวกันมาก อย่างไรก็ตามนายทองดีก็ตกลงไปเมืองตากกับชาวจีนคนนั้นโดยมีบุญเกิดติดตามไปด้วย ระหว่างทางกลางป่าในตอนกลางคืนเสือได้เข้ามาคาบบุญเกิดไป นายทองดีได้ติดตามเข้าช่วยโดยได้ต่อสู้กับเสือจนเสือบาดเจ็บหนีไป แต่บุญเกิดเองก็ถูกคมเขี้ยวของเสือกัดบาดเจ็บหลายแห่งอาการสาหัส ต้องพาไปรักษาตัวที่วัดใหญ่เมืองตากอยู่นานถึงสองเดือน อาการจึงทุเลาวันหนึ่งเจ้าพระยาตากมาถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดใหญ่ซึ่งมีการชกมวยฉลองด้วย นายทองดีได้ชกกับครูมวยชื่อ “ห้าว” และสามารถเอาชนะได้ เจ้าพระยาตากอยากดูฝีมือนายทองดีอีกจึงได้จัดให้ชกกับครูมวยชื่อ “หมึก” ซึ่งนายทองดีก็สามารถชกเอาชนะได้อีกทำให้เจ้าพระยาตากชอบใจในฝีมือของนายทองดีมาก โดยได้มอบรางวัลให้ 5 ตำลึง และรับตัวเข้าทำงานด้วย
พอนายทองดีอายุ 21 ปี เจ้าพระยาตากได้จัดการอุปสมบทให้ บวชอยู่ 1 พรรษา ก็สึกออกมาอยู่กับเจ้าพระยาตากต่อไป โดยเจ้าพระยาตากได้แต่งตั้งให้เป็น “หลวงพิชัยอาสา” และยังได้ยกนางสาวรำยงซึ่งเป็นสาวใช้ของภริยาของเจ้าพระยาตากให้เป็นภรรยาของหลวงพิชัยอาสาด้วย ในครั้งนั้นเมื่อเจ้าพระยาตากจะไปไหนมาไหนก็มักจะให้หลวงพิชัยอาสาติดตามไปด้วยทุกครั้ง
ต่อมาเจ้าพระยาตากได้รับท้องตรากระแสพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยาตากไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าพระยาตากได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นที่พระยาวชิรปราการครองเมืองกำแพงเพชร หลวงพิชัยอาสาก็ตามเจ้าพระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) ไปด้วย แต่พอดีกับพม่าได้กองทัพใหญ่มาล้อมกรุงศรีอยุธยา พระยาวชิรปราการและหลวงพิชัยอาสาก็อาสาเข้าช่วยรบกับพม่าภายในกรุงศรีอยุธยาด้วย แต่เนื่องด้วยไม่ได้รับความยุติธรรมและขาดความอิสระในการรบพุ่ง ดังนั้นพระยาวชิรปราการพร้อมด้วยหลวงพิชัยอาสาและพรรคพวก ซึ่งมี พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี หมื่นราชเสน่หา และพลทหารจำนวนหนึ่งจึงได้ ร่วมกันตีฝ่าวงล้อมของทหารพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา เดินทางผ่านเมืองปราจีนบุรี ระยอง จนถึงเมืองจันทบุรี รวบรวมผู้คน เสบียงอาหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ไว้พร้อมแล้วจึงยกทัพเรือลงมาตีเมืองธนบุรี ได้รบกับ “นายทองอิน” ซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองอยู่ โดยได้จับนายทองอินประหารชีวิตเสียในครั้งนั้น สุกี้พระนายกองพม่าที่รักษากรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้นได้ทราบข่าวจึงให้ “มองหย่า” เป็นนายทัพคุมทหารมอญและทหารไทยมาตั้งรับอยู่ที่บ้านพะเนียด พระยาวชิร-ปราการจึงสั่งให้หลวงพิชัยอาสาเป็นนายทัพหน้ายกเข้าตีมองหย่า มองหย่าซึ่งมีความเกรงกลัวฝีมือของหลวงพิชัยอาสาจึงถอยทัพหนีไปมิได้คิดอยู่ต่อสู้ พระยาวชิรปราการสั่งให้หลวงพิชัยอาสาบุกเลยเข้าไปตีค่ายโพธิ์สามต้น ได้ล้อมค่ายของสุกี้พระนายกองอยู่ถึงสองวันก็สามารถตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตกโดยตัวสุกี้พระนายกองตายในสนามรบ เมื่อได้ชัยชนะแล้วพระยาวชิรปราการได้เข้าไปตั้งพลับพลาอยู่ในพระนครเห็นปราสาทและตำหนักต่างๆ ถูกเพลิงเผาไม้เสียหายมากอย่างยากที่จะบูรณะซ่อมแซมใหม่ จึงได้เคลื่อนย้ายทหารและพลเรือนไปสร้างเมืองธนบุรีให้เป็นราชธานีแห่งใหม่ และได้ทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อ ปี พ.ศ.2311 ทรงพระนามว่า “พระบรมราชาธิราชที่ 4” แต่มักเรียกกันว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” หรือ “สมเด็จพระเจ้าตากสิน” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หลวงพิชัยอาสา เป็น “เจ้าหมื่นไวยวรนาถ” มีตำแหน่งเป็นนายทหารเอกองครักษ์ในพระองค์
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสร้างเมืองธนบุรีเป็นราชธานีแล้วจึงทรงดำเนินการปราบก๊กต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือปราบได้ก๊กของกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งอยู่ที่เมืองพิมาย และได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่ตั้งให้เจ้าหมื่นไววรนาถเป็น “พระยาสีหราชเดโช” แล้วจากนั้นจึงเสด็จยกทัพไปปราบก๊กฝ่ายเหนือ ซึ่งสามารถปราบก๊กเจ้าพระฝาง เมื่อ พ.ศ. 2313 แล้วได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพระยาสีหราชเดโช เป็น ”พระยาพิชัย” ให้ครองเมืองพิชัย ต่างพระเนตรพระกรรณ โดยให้มีไพร่พล 8,000 คน ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องยศให้เสมอด้วยเจ้าพระยาสุรสีห์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่ตั้งให้นายบุญเกิดคนสนิทของพระยาพิชัย เป็น “หมื่นหาญณรงค์” นายทหารคนสนิทของพระยาพิชัยอีกด้วย
เมื่อพระยาพิชัยไปครองเมืองพิชัยนั้นได้ทราบข่าวว่าบิดาถึงแก่กรรมเสียแล้วแต่มารดายังมีชีวิตอยู่จึงให้ทนายไปตามหามารดา พอมารดามาถึง มารดาได้หมอบกราบพระยาพิชัยโดยไม่ได้เงยหน้าดูเพราะความกลัว ด้วยยังไม่ทราบว่าพระยาพิชัยเป็นบุตรของตัว พระยาพิชัยจึงรีบลุกไปจับมือมารดาไว้ห้ามไม่ให้กราบไหว้ตน และได้กราบลงกับเท้ามารดาแล้วเล่าเหตุการณ์ที่ได้ซัดเซพเนจรให้มารดาฟังตั้งแต่ต้นจนกระทั่งได้มาครองเมืองพิชัย เมื่อมารดาทราบว่าพระยาพิชัยเป็นบุตรของตนก็ร้องไห้ด้วยความดีใจ ซึ่งในครั้งนั้นครูเที่ยงที่บ้านแก่งและครูเมฆที่ท่าเสาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกำนันเช่นกัน เป็นการสนองคุณของผู้มีพระคุณทั้งสองนั่นเอง
ในปลายปี พ.ศ.2313 นี้เอง โปมะยุง่วน ซึ่งพม่าตั้งให้รักษาเมืองเชียงใหม่ได้ยกกองทัพชาวพม่าและชาวล้านนาลงมาตีเมืองสวรรคโลก พระยาพิชัยก็ยกทัพเมืองพิชัยไปช่วยรบร่วมกับกองทัพเมืองพิษณุโลก ตีทัพพม่าแตกหนีไป ต่อมาในปี พ.ศ.2515 โปสุพลา ซึ่งมาอยู่ช่วยราชการรักษาเมืองเชียงใหม่ได้ยกกองทัพมาตีเมืองลับแลจนแตก แล้วยกลงมาตีเมืองพิชัย โดยตั้งค่ายอยู่ใกล้กับวัดเอกา พระยาพิชัยก็จัดทัพเพื่อการป้องกันเมืองพิชัยอย่างเข้มแข็ง เจ้าพระยาสุรสีห์ได้ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกขึ้นมาช่วยเมืองพิชัย ทัพของเจ้าพระยาสุรสีห์และทัพของพระยาพิชัยได้เข้าตีทัพของพม่า มีการสู้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน ทัพไทยไล่ฟันแทงทัพพม่าล้มตายเป็นอันมาก จนทัพพม่าแตกพ่ายกลับไปเมืองเชียงใหม่
รุ่งขึ้นปีต่อมา (พ.ศ.2316) โปสุพลา ยกกองทัพพม่ามาตีเมืองพิชัยอีก พระยาพิชัยยกพลทหารออกไปต่อรบตั้งแต่กลางทางก่อนที่ทัพพม่าจะเข้ามาถึงเมือง เจ้าพระยาสุรสีห์ก็ยกกองทัพเมืองพิษณุโลกมาช่วยอีกครั้ง ในครั้งนี้ก็เช่นกันกองทัพไทยรบกับกองทัพพม่าอย่างเข้มแข็ง พระยาพิชัยถือดาบสองมือนำหน้าเหล่าทหารออกไล่ฟันพม่าจนดาบหักคามือแต่ก็สามารถตีกองทัพพม่ามาตีเมืองพิชัยอีก