นักเรียนสตูลเนรมิตผืนดินร้างในโรงเรียน เป็นทุ่งทานตะวันแห่งการเรียนรู้ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในชุมชนสร้างรายได้
……………………………………..
นักเรียน ครู รวมถึงผู้ปกครอง กำลังสนุกสนาน เพลิดเพลินกับการถ่ายรูปกับทุ่งทานตะวันที่ชูช่อดอกเหลืองอร่าม ท้าแสงแดด บนพื้นที่ 2 ไร่ บริเวณหน้าโรงเรียนบ้านาท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล สร้างความสุข และเกิดการเรียนรู้ของนักเรียนภายใต้แนวคิด การจัดกระบวนการเรียนการสอน และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนหลักการความคุ้มค่า ” ทุกตารางเมตรคือแหล่งเรียนรู้ ”
โดยแปลงทานตะวันแห่งนี้เกิดขึ้น โดยคณะครู และนักเรียนต้องการให้ทุกพื้นที่ของโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกทักษะอาชีพ ฝึกนิสัยความรับผิดชอบ การช่วยเหลือกัน การทำงานเป็นทีม และเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน แปลงทางตะวันแห่งนี้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ ของนักเรียน คณะครู และผู้บริหาร โดยนักเรียนแต่ละชั้นเรียนร่วมกันรับผิดชอบ ตั้งแต่กกระบวนการแรก พรวนดิน ลงเมล็ดพันธุ์ รดน้ำ ดูแลจนเบ่งบานสวยงาม ผ่านกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง
ด.ช.สุวิทย์ โต๊ะหมาด ประธานนักเรียน กล่าวว่า ตอนแรกก็ คุณครูได้ติดต่อให้รถไถนาของชุมชนไถที่นี่ แบ่งเป็นแปลง ให้นักเรียนแต่ละชั้นดูแล ตอนแรกก็เริ่มตั้งแต่พรวนดินแปลงไหนที่น้องๆ พรวนดินไม่เสร็จพี่ๆก็จะไปช่วย เอาเมล็ดลงหลุมละ 1 เม็ด เมื่อต้นโตรู้สึกปลื้มมากไม่ได้คิดว่ามันดอกจะบานขนาดนี้ ได้ความสามัคคีมีความรับผิดชอบร่วมกันครับ
นายสนั่น หวันสมัน ประธานคณะกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนแห่งนี้ พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ว่าง ทางคณะกรรมการสถานศึกษาคณะครูผู้ปกครองมีแนวคิดว่าโรงเรียนแห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับ ลูกๆหลานๆของเราในชุมชน พร้อมทั้งผู้ปกครองที่เข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียน ทุกตารางเมตรของโรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะพื้นที่ว่างเปล่า เราจึงปลูกดอกไม้เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบ ในโรงเรียนร่วมกัน ร่วมกันใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใช้สอยเพราะโรงเรียนของเราเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่เยอะแต่ทุกตารางเมตรก่อให้เกิดประโยชน์ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง
ในส่วนของพื้นที่ตรงนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามามีส่วนร่วม เป็นจุดเช็คอิน เพื่อดึงคนจากภายนอกมาเที่ยวในชุมชนในตำบลของเราได้ด้วย ตรงนี้เราไม่ได้เรียกร้องขอค่าบริการต่างๆ แต่ในส่วน ของผู้มีจิตศรัทธา ก็ร่วมกันบริจาคสมทบทุนเพื่อให้กับลูกหลานในชุมชนในโรงเรียนเพื่อเป็นค่าดูแลได้
นางสาวภูษณิศา เศรษฐ์วิชัย ครู คศ.1 โรงเรียนบ้านท่าแลหลา กล่าวว่า เดิมทีโรงเรียนเป็นโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนเน้นทักษะชีวิตเด็ก โดยการดำเนินตามรอยแนวพระราชดำริหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนแปลงทานตะวันตรงนี้มาอ้างอิงถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่นเดียวกันซึ่งจะเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติได้มีทักษะชีวิตของเขา ที่เป็นดอกทานตะวันเหตุผลเพราะว่าเป็นดอกไม้ที่สวยเราอยากจะสร้างเป็นจุดเช็คอินของโรงเรียน และดอกทานตะวันดูแลง่าย โตเร็ว ในส่วนของรายได้จากผู้มีจิตศรัทธาให้มา ตอนนี้ยังทำบัญชีอยู่ มีแนวคิดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนหมุนเวียนในการทำแปลงทานตะวันต่อ และอาจจะมีดอกไม้ชนิดอื่นหมุนเวียนเพื่อว่าให้มีการเปลี่ยนแปลงไม่จำเจ และให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกสิ่งเหล่านี้ ในส่วนของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมภายนอก ก็แล้วแต่เลยค่ะว่าจะบริจาค เพราะว่าไม่ได้เก็บค่าเข้าชม ตอนนี้เปิดให้เข้าชมและถ่ายรูปได้ฟรี เพียงแต่ว่าอยากจะร่วมเป็นปันน้ำใจเล็กน้อยเพื่อช่วยค่าน้ำให้น้องทานตะวันก็หยอดตู้ได้
หลังจากเด็กได้ปลูกแล้ว เด็กได้เยอะเลยค่ะตอนแรกอย่างที่บอกโรงเรียนได้มีการจัดเรียนการสอนตามแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เด็กได้ทำได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แต่สิ่งที่ได้กลับได้เยอะมากกว่าเดิมเกินความคาดหมาย เด็กจะได้อย่างแรกเลยคือ การฝึกในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ จับจอบ จับเสียม พรวนดิน ปลูกต้นไม้ เขารู้จักการดูแลทะนุถนอม รวมถึงการที่เขาจะต้องแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ผลตอบแทนผลตอบรับจากภายนอก ก็ค่อนข้างดีมากในตอนนี้เพราะทั้งชุมชนองค์กรต่างๆรวมถึงสถานศึกษา หรือว่าหน่วยงานอื่นๆ ก็มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องแล้วเด็กก็จะได้ฝึกในเรื่องของการประชาสัมพันธ์การพบปะผู้คนได้อีกมันต่อเนื่องได้หลายอย่างเลยค่ะ
ขณะนี้พื้นที่โรงเรียนทั้งหมดได้ใช้สอยเต็มพื้นที่ประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับจัดการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน แปลงเกษตรสวนครัว แปลงไม้ผล และสระน้ำ อีกทั้งยังมีสวนพฤกษศาสตร์ให้นักเรียนได้เรียนรู้และเป็นจุดพักผ่อน
สำหรับดอกทานตะวันนี้จะแบ่งบานยาวไปจนถึงช่วงสงกรานต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมได้ทุกวัน ฟรี รวมทั้งทางโรงเรียนเองนั้นต้องการที่จะเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้หมู่บ้านบริเวณรอบๆโรงเรียนมีรายได้ รวมทั้งตำบลกำแพงนี้มีการท่องเที่ยว และการทำของฝากหลายๆจุด และจะนำโรงเรียนแห่งนี้เป็นจุดเส้นทางการมาเที่ยวอีกด้วย เพราะปัจจุบันนี้ ของฝากในพื้นที่ทั้งขนม และสิ่งของขายได้จากนักท่องเที่ยวเดือนๆหนึ่งได้ 3,000 – 10,000 บาท หากมีดอกทานตะวัน ยิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาอีกด้วย
………………………………………………….
ภาพ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง นักท่องเที่ยว ถ่ายภาพความสวยงามของทานตะวัน
เอนก ขันทสิกรรม จังหวัดสตูลรายงาน