“ปศุสัตว์มหาสารคาม เร่งรุกเครือข่ายเฝ้าระวัง ค้นหาโรค ควบคุมยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) ในโค – กระบือ ของเกษตรกรในพื้นที่”
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 น. นายนพดล พินิจ ปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนายสุเทพ เหลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์มหาสารคาม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมสมาชิกเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีกรมปศุสัตว์ และนายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนากระบือจังหวัดมหาสารคาม ณ โชคจำเริญฟาร์ม ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ขอความร่วมมือในการเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง ค้นหาโรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) ในโค – กระบือ เพื่อตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกและเครือข่าย ในการซื้อขายสัตว์ และแจ้งข้อมูลที่อาจบ่งบอกการเกิดโรคในฟาร์ม หรือสงสัยการเกิดโรคทางอาการ ได้แก่ ซึม น้ำตาไหล น้ำลายไหล ไม่กินอาหาร มีตุ่มนูนตามผิวหนังทั่วร่างกาย เป็นต้น
นายนพดล พินิจ กล่าวว่า ซึ่งหากตรวจพบฟาร์มที่สงสัย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที ได้ที่ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม โทร.043-777-960 หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในท้องที่ทั้ง 13 อำเภอ เพื่อเข้าดำเนินการให้ความช่วยเหลือพร้อมทั้งตรวจสอบ เก็บตัวอย่างเพื่อยืนยันโรค ตลอดจนควบคุมโรคและแมลงพาหะโดยเร็ว
ทั้งนี้ หากกรณีเกษตรกรนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่ ควรมีการกักแยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อสังเกตอาการ 28 วัน พร้อมทั้งกางมุ้งกันแมลงและให้ยาฆ่าแมลง เพื่อควบคุมแมลงพาหะ รวมถึงหมั่นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์แมลง ทำความสะอาดบริเวณที่เลี้ยงสัตว์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
นายนพดล พินิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประชุมขอความร่วมมือเครือข่ายข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงโค – กระบือ ในครั้งนี้ เป็น 1 ใน 5 มาตรการ ในการควบคุมโรคโรคลัมปี สกิน (Lympy Skin Dusease; LSD) เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดในพื้นที่ของกรมปศุสัตว์ สำหรับมาตรการ 2) ได้แก่ การเข้มงวดการควบคุมการเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ แหล่งรวมสัตว์ และตลาดนัดค้าสัตว์ รวมทั้งช่องทางการนำเข้าสัตว์ตามแนวชายแดน โดยให้เข้มงวดการตรวจรอยโรคในโค กระบือ ที่เคลื่อนย้านผ่านจุตรวจทุกตัว, มาตราการที่ 3) เน้นขอความร่วมมือจากพ่อค้าสัตว์ เกษตรกร งดการซื้อขายโค กระบือที่มาจากแหล่งที่เกิดโรค หรือจากพื้นที่ในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรคเพราะอาจได้สัตว์ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายและสามารถติดต่อไปยังโค กระบือตัวอื่นเมื่อนำเข้าร่วมฝูง เพราะโรคนี้ติดต่อโดยแมลงดูดเลือด และการสัมผัสกับของเหลวจากตุ่มเนื้องอกที่แตก, มาตรการที่ 4) ดำเนินการป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลง ทั้งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง และมาตรการที่ 5) การรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ เพื่อลดความสูญเสียแก่สัตว์ของเกษตรกร พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคลัมปี สกินอย่างเคร่งครัดแล้ว สัตว์ก็จะปลอดจากโรค และโรคดังกล่าวก็จะหมดจากจังหวัดและประเทศไทยได้ในที่สุด
///////
พิเชษฐ ยากรี /มหาสารคาม