ผวจ.สิงห์ ผุดไอเดียเจ๋ง!! ตั้งธนาคารไก่ดำภูพาน เสริมรายได้เพิ่มให้เกษตรกร นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วย นายสามารถ ประสิทธิ์ผล ปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี และ พัฒนาชุมชนจังหวัดสิงห์บุรี ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยง “ไก่ดำภูพาน” ว่า ไก่ดำภูพาน ถูกพัฒนาขึ้นมาจากไก่กระดูกดำ โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เคยทำการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสกลนครเลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นเวลามากว่า 25 ปี ได้ทำการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ดำที่มีกระดูกดำและเนื้อดำเพื่อให้มีลักษณะจำเพาะ โดดเด่นด้านความทนทานต่อโรค เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย เหมือนไก่พื้นเมือง และเนื้อไก่ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์ต่อร่างกายผู้บริโภค โดยพบว่ามีสารสีดำ “เมลานิน” จำนวนมากในไก่ดำภูพาน ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารเมลานินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติในการชะลอความชราของเซลล์ และออกฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ผู้ที่บริโภคไก่ดำได้รับสารอาหารที่มากกว่าไก่ทั่วไป และจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ไก่ดำภูพานเป็นไก่ดำที่มีขนสีขาว สร้างจุดแปลกแตกต่างจากไก่ที่เคยเห็นมา เลี้ยงได้ทั้งเป็นไก่สวยงามและไก่เนื้อ ได้รับความนิยมของประชาชนและเกษตรกรในการนำไปเลี้ยงเพื่อบริโภคและเพื่อจำหน่าย เลี้ยงง่ายเหมือนกับไก่บ้านไก่พื้นเมืองทั่วไปแต่เจริญเติบโตดีกว่า มีราคาสูง ไก่ดำภูพานตัวผู้ราคาประมาณ 1,000 – 1,500 บาท ส่วนตัวเมียราคา 800 – 1,000 บาท สำหรับไข่เมื่อฟักเป็นลูกเจี๊ยบจะราคาตัวละ 100 บาท ส่วนไข่ที่ยังไม่ฟักใบละ 18 บาท ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าความต้องการการบริโภคไก่ดำภูพานจะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระแสรักสุขภาพ ด้วยคุณประโยชน์ที่สูงกว่าไก่เนื้อทั่วไป ในขณะที่การผลิตไก่ดำในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ไก่ดำภูพานจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความน่าสนใจในการส่งเสริมการเลี้ยงให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ตามแบบเกษตรอินทรีย์วิถีสิงห์บุรี เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นายชำนาญวิทย์ ฯ กล่าวต่อว่า ถ้าเกษตรกรท่านใดสนใจการเลี้ยงไก่ดำภูพาน ทางจังหวัดฯ มีโครงการ ธนาคารไก่ดำภูพานโดยมีแผนจะขยายพันธุ์ไก่โดยช่วงแรกใช้ตู้ฟักไข่จากพ่อแม่พันธุ์ที่มี หลังจากนั้นหากโตพอที่จะขยายพันธุ์ได้ก็จะนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับทางปศุสัตว์ฯ โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อนำไปเลี้ยงแล้วมีสามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนเพิ่มขึ้นให้นำไข่ส่งคืนธนาคารจำนวนเท่าที่รับพ่อแม่พันธุ์ไปเพื่อที่ทางจังหวัดจะนำไข่ไปฟักเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้เกษตรกรรายอื่นที่ลงทะเบียนต่อไป เป็นการหมุนเวียนถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นจากรายได้หลัก หากท่านใดสนใจสามารถมาติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสิงห์บุรี หลังจากนี้จะมีประกาศต่อไป
ณัฏฐนารา ปานมี ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สิงห์บุรี