จังหวัดสุรินทร์
สุรินทร์-พัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์เตรียมส่งผ้าไหมทอมือลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ เข้าประกวดในระดับภาคและระดับประเทศ
นายวสันต์ ชิงชนะ พัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ นำผู้สื่อข่าวเดินเยี่ยมชมผ้าไหมทอมือลายพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่บริเวณหน้าสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเกิดจากการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ที่ได้ดําเนินงานประชาสัมพันธ์ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามพระดําริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงประทานแบบลายมัดหมี่ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2564 ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน และประทานอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินการประกวดผ้าลายพระราชทานต่อไป กรมการพัฒนาชุมชนได้รับสนองพระกรุณาธิคุณ มอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ไปสู่กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิคทั่วทุกภูมิภาค
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ได้นำลายพระราชทานถ่ายทอดให้แก่กลุ่มทอผ้าไหมของจังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการการน้อมนำลายผ้าพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สู่การทอผ้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตามอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาของสุรินทร์ ได้สนองพระดำริ โดยมอบหมายให้ทั้ง 17 อำเภอส่งมอบลายผ้าพระราชทานสู่ผู้ผลิต/ช่างทอในจังหวัดสุรินทร์อย่างทั่วถึง มีการสำรวจกลุ่มผู้ผลิต ช่างทอที่มีความสามารถในการแกะลาย มัดย้อม ทอ ปัก ดำเนินการขยายผลการดำเนินงานสู่ทายาทงานหัตถศิลป์ฯ ศิลปิน OTOP Young OTOP ช่างทอทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค กลุ่มผู้ผลิต จำนวนแล้วทั้งสิ้น 750 ราย และผู้สนใจทั้ง 17 อำเภอ รับไปดำเนินการตามความถนัดแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 166 ราย ครอบคลุมใน 3 กระบวนการ ได้แก่ การแกะลาย การมัดหมี่ และการทอ โดยเน้นกระบวนการผลิตโดยใช้สีธรรมชาติเป็นหลัก ดำเนินการผลิตทั้งตามแบบลายต้นฉบับที่ได้รับพระราชทาน และแบบแบบประยุกต์
ทั้งนี้การทอมีการดำเนินการใน 4 รูปแบบ คือ ทอมัดหมี่ โดยใช้ฟืมลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ฟืม 2 ตะกอ 3 ตะกอ และ 5 ตะกอ การทอแบบยกตะกอเป็นลวดลายต่างๆ การทอแบบจกหรือขิด ตลอดจนมีการนำลวดลายไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ การปักหรือแส่ว (แซว) บนผืนผ้าไหม การสร้างลายบนเครื่องเงิน การถักโครเชต์ เป็นผ้าสไบ กระเป๋า ถุงใส่แก้วน้ำ การจัดสานเป็นตะกร้า เป็นต้น
นอกจากนี้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ยังติดตามส่งเสริมการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้าจนได้ผ้าลายพระราชทานด้วยเทคนิคของผู้ทอผ้าเอง โดยเน้นการใช้ สีธรรมชาติตลอดทั้ง นําไปเป็นต้นแบบ และพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจําถิ่น เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้นผ้าไทยให้ทันสมัย สู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานพระอนุญาตให้กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้จัดประกวดลายผ้าพระราชทาน โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดดําเนินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แบ่งประเภทผ้าลายพระราชทาน ที่ส่งเข้าประกวดเป็น 15 ประเภท ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่น
โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำหนดดำเนินการประกวด ณ จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. 2564 และดำเนินการตัดสินการประกวดในระดับประเทศ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2564 ทั้งนี้จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการส่งเสริมการประกวด “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ผลปรากฏว่ามีผู้สมัครเข้าร่วมประกวดจำนวน 6 ประเภท จาก 15 ประเภท จำนวน 104 ราย จำนวนผ้า 106 ผืน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศอีกด้วย
ภาพ/ข่าว: เขมชาติ ชุณหกิจขจร…ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สุรินทร์ / รมิตา สิงหเสรี