วันที่ 27 ม.ค.65
คณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล ลงพื้นที่ประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหา และอุปสรรคในการทำงานในอนาคต
วันนี้ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 14.30 น. ที่ ห้องประชุมศาลารวมใจ กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านความมั่นคง) เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมพลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ ที่ปรึกษาคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล และพลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กับกำลังพลส่วนที่เกี่ยวข้องของกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหา และอุปสรรคในการทำงานในอนาคต โดยมี พลตำรวจโท นันทเดช ย้อยนวล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9/ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนผู้บังคับการ และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาให้การต้อนรับ และร่วมประชุมในครั้งนี้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 อย่างเคร่งครัด
ในวาระการประชุม กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บรรยายสรุปผลการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความคืบหน้าการดำเนินการด้านความมั่นคงในภาพรวมที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 ได้ถือปฏิบัติตามแนวนโยบายของรัฐบาล รับผิดชอบงานการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน มุ่งเน้นการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนงานด้านอำนวยการ และความยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนที่เกิดประโยชน์สุขแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
พลเอก พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านความมั่นคง) กล่าวว่า “วันนี้นับเป็นโอกาสดีที่ได้มีโอกาสเยี่ยม และพบปะทุกท่านหลังจากที่รัฐบาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล มีวัตถุประสงค์หลักสำคัญคือการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ตลอดจนรับฟังปัญหาข้อขัดข้องต่างๆในการปฏิบัติงานในพื้นที่ การพูดคุยทำความเข้าใจถึงแนวทางการทำงานจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง การทำงานทุกอย่างต้องให้อยู่ในกระบวนการ และแนวปฏิบัติด้วยความรอบคอบ รู้จักการประเมินสถานการณ์ ความเหมาะสมของสถานณ์การนั้นๆ ในส่วนของคดีต่างๆ ในพื้นที่นั้นต้องชัดเจน แยกให้ออกในเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง และจะต้องมีรายชื่อที่ชัดเจนเพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายต่อไป ซึ่งหลังจากนี้ให้ทำความเข้าใจในนโยบายการทำงานต่างๆให้ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือน้องๆได้เข้าใจให้มาก เพราะต้องปฏิบัติงาน และลงพื้นที่พบปะช่วยเหลือประชาชนอยู่ตลอดเวลา สุดท้ายขอขอบคุณในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และขอเป็นกำลังใจในการทำงานเพื่อประเทศชาติ และเพื่อประชาชนต่อไป”
อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา