“ทวี” ปลุกสภาร่วมปลดโซ่ตรวนลูกหนี้ กยศ.ทั่วไทย

“ทวี” ปลุกสภาร่วมปลดโซ่ตรวนลูกหนี้ กยศ.ทั่วไทย

28 ม.ค.65
“ทวี” ปลุกสภาร่วมปลดโซ่ตรวนลูกหนี้ กยศ.ทั่วไทย

เลขาธิการพรรคประชาชาติ ชี้ พ.ร.บ.กยศ.ยุค คสช.ขัดรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิ ล้วงข้อมูลผู้กู้ ซ้ำดอกเบี้ย-เบี้ยปรับทำกำไรเกินธนาคารพาณิชย์ ดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับพรรคประชาชาติ ใช้คืนแค่เงินต้น ยืดเวลาใช้หนี้ 30 ปี เรียนดีเกียรตินิยมยกหนี้ให้ คนเรียนจบมีการศึกษาคือกำไรของประเทศ

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 25 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธที่ 26 ม.ค.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้กล่าวสรุปการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ…. หลังจากที่ ส.ส.ของพรรคประชาชาติได้มีการอภิปรายถึงร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ทางพรรคประชาชาติได้เสนอ

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายว่า จากร่าง พ.ร.บ.ที่มีทั้งหมด 5 ร่าง ฐานคิดของพรรคประชาชาติอาจจะต่างจากอีก 4 ร่างในบางประการ ฐานคิดที่พรรคประชาชาติมองว่า การศึกษาเรียนรู้เป็นการพัฒนามนุษย์ สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวคือ สมองกับความคิด สมองกับสติปัญญา มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อจะศึกษาเรียนรู้ เพราะความรู้เท่านั้นที่จะสามารถนำประเทศและสังคมไปสู่การพัฒนา การวัดคุณภาพของสังคมใดสังคมหนึ่งเขาจะวัดกันที่คุณภาพของคน ไม่ได้วัดกันที่คุณภาพของอำนาจ ไม่ได้วัดกันที่คุณภาพของความกว้างขวาง

ที่สำคัญหลักคิดของพรรคประชาชาตินั้น เรามองว่าการศึกษาเป็นสิทธิมนุษยชน การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นที่ฐาน และการศึกษาเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องดูแลคนในประเทศ เพราะรัฐบาลในทางความเป็นจริงคือผู้ที่เก็บภาษีอากรจากประชาชน ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 บอกหน้าที่ของประชาชนไว้ในมาตรา 50 (4) ว่าประชาชนต้องเข้ารับการศึกษาอบรม การศึกษาภาคบังคับ หน้าที่ของประชาชนทุกคนยังต้องศึกษา และมีกำหนดเป็นหมวดใหม่คือ “หน้าที่ของรัฐ” ระบุในมาตรา 51 ว่า อะไรในหมวดหน้าที่ของรัฐ ย่อมเป็นสิทธิของประชาชน ย่อมเป็นสิทธิของชุมชน แล้วประชาชนหรือชุมชน ถ้าเห็นว่ารัฐไม่เร่งดำเนินการ ปล่อยปละละเลย ประชาชนก็จะมีสิทธิที่จะฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้ และตามคำสั่ง คสช.จึงได้ออกคำสั่งที่ 28/2559 เรื่องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ก็คือการศึกษาตั้งแต่อนุบาล จนถึงการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือ ระดับ ปวช.3 อันนี้ต้องเป็นการศึกษาฟรีแบบมีคุณภาพ

เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลไม่บังคับตามรัฐธรรมนูญ แต่ไปว่ามีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในรัฐธรรมนูญบอกไว้แล้วว่า คนที่ไม่มีสินทรัพย์ คนยากไร้ขาดแคลนทุนทรัพย์ รัฐต้องทำ 2 อย่าง คือ 1.สนับสนุนโดยรัฐ 2.รัฐต้องมีกองทุน ซึ่งรัฐก็มีกองทุนจริง คือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ได้งบประมาณปีละ 5-6 พันล้านบาท ปรากฏว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเกือบ 99 เปอร์เซ็นต์ ไปแย่งทำงานกับการเรียนฟรี 15 ปี แต่ไม่ไปดำเนินการกับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 (5) (6) ดังนั้นกองทุน กยศ.ที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่าจะต้องมีบทบาทหนึ่งเป็นกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลน

ประเทศไทยเรา การศึกษาถูกทำลายอย่างรุนแรงในยุคของ คสช. สิ่งที่เห็นได้ดีที่สุดคือ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ที่ไปทำลายหลักการสำคัญของ พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาปี 2541 คือ การศึกษาในกองทุนฯปี 41 บอกว่า จะคิดดอกเบี้ยก็ได้ แต่ต้องคิดเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารออมสินที่วันนี้ไม่ถึง 50 สตางค์ด้วยซ้ำ แต่ใน พ.ร.บ.ปี 60 ไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้นยังไม่พอ ไปคิดเบี้ยปรับร้อยละ 18 ต่อปี รวมเบี้ยปรับกับดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 25.5 ต่อปี ถือว่ากำไรสูงมาก

เท่านั้นยังไม่พอยังทำลายหลักการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือการทวงหนี้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ได้หมดเลย เปิดเผยข้อมูลได้ ซึ่งปกติต้องไปขออำนาจศาลในการเปิดเผย แต่ กยศ. สามารถบุกเข้าถึงได้ และที่สำคัญ มาตรา 50 ยังให้ กยศ.มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน (บุริมสิทธิ คือ สิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในการที่จะได้รับชําระหนี้อันค้างชําระแก่ตนจากทรัพย์สินนั้นก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ) คือ สมมติถ้าลูกหนี้ กยศ. ไปกู้ธนาคาร ธนาคารก็จะไม่ให้กู้ เพราะ กยศ.เป็นหนี้บุริมสิทธิ ถ้าปล่อยกู้แล้วมีปัญหาลูกหนี้ต้องจ่ายหนี้ กยศ.ก่อน และทำให้ลูกหนี้ กยศ. ต้องเดือดร้อนจนต้องไปหาเงินจากหนี้นอกระบบ จึงเป็นวิกฤติอย่างในทุกวันนี้

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายอีกว่า สรุปแล้ว พ.ร.บ.กยศ.ถ้าไม่แก้ ปัญหาไม่รุนแรงขนาดนี้ เพราะใน พ.ร.บ.กยศ.ปี 41 ถ้ามีดอกเบี้ยก็แค่ 1 สลึง แล้วจริงๆ พอหลังจากรัฐธรรมนูญปร 60 ประกาศใช้แล้ว การมีดอกเบี้ยจะทำไม่ได้เด็ดขาด เพราะดอกเบี้ยคือ คนที่ได้เรียนจบ และมีการศึกษา ทำให้ประเทศมีกำไร นี่คือหลักคิดของพรรคประชาชาติ

เราจึงแก้กรณีที่ 1 คือ มาตรา 6/1 ให้การกู้ยืมของผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นทุนการศึกษา แต่มีเงื่อนไขให้คณะกรรมการได้พิจารณา แต่หลักใหญ่ก็คือเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ และมาตรา 44 ที่เป็นมาตราหลักก็คือ การใช้หนี้เฉพาะเงินต้น การใช้หนี้ต้องไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ผมถือว่าการมีดอกเบี้ยสำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำผิดกฎหมาย และการมีเบี้ยปรับอย่างโหดร้ายก็ต้องยกเลิก และให้ใช้หนี้เมื่อมีความพร้อม ภายในระยะเวลา 30 ปี ซึ่งผมเชื่อว่าภายใน 30 ปี ลูกหนี้มีความพร้อม

เราแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิแพ่ง) ในการบังคับคดีว่า ถ้าจะบังคับคดีกับลูกหนี้ ลูกหนี้ต้องมีเงินอยู่ 20,000 บาท เงินสงเคราะห์ต่างๆ ไปบังคับไม่ได้ แต่ทาง กยศ. ทำได้หมด ทำแบบนี้นอกจากทำตัวเป็นธนาคารพาณิชย์ ยังเป็นการรีดเลือดเอากับคนที่จะเป็นอนาคตของประเทศ คน GEN Y อายุ 21-37 ปี GEN X ถึง 60 ปี เกิดมาต้องมีทุกข์กับการเป็นหนี้และเป็นหนี้ที่เป็นภาษีอากรของประชาชน

เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายอีกว่า อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกคนรับร่าง พ.ร.บ.นี้ เรามาร่วมกันปลดโซ่ตรวนที่เป็นภาระอันยิ่งใหญ่ การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นที่ฐานที่รัฐจะต้องจัดการให้ แต่เมื่อไปดูงบการเงินของ กยศ. ปรากฏว่าเบี้ยปรับ 1.6 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยรวม 3 หมื่นกว่าล้านบาท เงินก้อนนี้แทนที่จะไปส่งน้องเรียนตามที่อ้าง เอาไปให้ กยศ. กรรมการเอาไปใช้ รวมตัวเลข 8 พันกว่าล้าน นี่มันคืออะไร คุณกำลังเอาเงินจากผู้ยากไร้ ทั้งที่ในหลักการทั้งศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม คนมือบนต้องช่วยมือล่าง แต่นี้กลับเอาเงินจากคนมือล่างมาหล่อเลี้ยง

ดังนั้นผมอยากให้พิจารณาร่างของพรรคประชาชาติ โดยคนที่ถูกฟ้องร้องหรือคนที่กู้อยู่ 6.1 ล้านคน จะต้องนำกลับมาทบทวน ต้องไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ คนที่อดีตถูกฟ้องร้องและถูกดำเนินคดีไปแล้ว 1.2 ล้านคน ก็ควรจะถูกส่งคืนเฉพาะเงินต้น ไม่ได้ไปยกเว้นหนี้ให้ และประเด็นสำคัญที่เรายกเว้นให้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนดีได้เกียรตินิยม หรือเป็นหลักสูตรที่รัฐเห็นว่ามีความจำเป็นต่อประเทศอันนี้ก็สำคัญ

วันนี้ พ.ร.บ.ที่รัฐบาลยกร่างมาอันตรายอย่างยิ่ง มีกรรมการที่มาจากกระทรวงการคลัง คือ ต้องการทำให้ กยศ.เป็นธนาคารพาณิชย์ แต่ธนาคารพาณิชย์ยังต้องจ่ายดอกให้คนฝากเงิน แต่ กยศ.ไม่ต้องจ่าย ที่สำคัญไปยกเลิกอนุกรรมการ 2 ชุดที่มาจากกระทรวงศึกษาธิการ เพราะอาจจะไปขัดขวางการดำเนินการต่างๆของกรรมการ จึงเป็นเหตุให้กรรมการใช้เงินได้ตามอำเภอใจ

พ.ต.อ.ทวี อภิปรายทิ้งท้ายว่า ถ้าจะดูอดีตสังคมใดให้ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ ถ้าจะดูปัจจุบันให้ไปดูที่หน่วยปฏิบัติ ถ้าจะดูอนาคตให้ไปดูที่การศึกษา วันนี้อนาคตของประเทศไทยแทบจะไม่มีเลย เรียนฟรี 15 ปี ไปตั้งกองทุน แต่ให้อีกกองทุนไปแย่งกันใช้เงินก้อนนั้น แต่กับคนที่ขาดแคลนยากไร้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดถูกปล่อยปละละเลย

จึงอยากเรียกร้องว่า เมื่อเราตั้งกรรมาธิการแล้วอยากให้เรามาร่วมกันสร้างชาติด้วยการศึกษา การศึกษาเท่านั้น ความรู้เท่านั้น จะเปลี่ยนทุกอย่างให้ดีได้ รัฐสภาที่เป็นตึกที่เราอยู่นี้ เกิดด้วยความรู้นะ ไม่ได้เกิดด้วยอาวุธ ไม่ได้เกิดด้วยกำลัง ความรู้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการศึกษา ผมจึงข้อสนับสนุนร่างของรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านทั้ง 5 พรรค และอยากให้ไปพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 อย่างใช้สติปัญญาและมองที่อนาคตของชาติเป็นสิ่งสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ต้องมาเป็นหนี้ ที่เกิดจากการเรียนรู้ ผมคิดว่า เราควรมาร่วมกันสร้างวาระสำคัญของชาติ

อะหมัด รามันห์สิริวงศ์/ยะลา/

การเมือง