เกษตรกร จ.ยะลา เข้าฝึกอบรมเพิ่มความรู้ปลูกพืช “ไผ่” แซมสวนยางฯ

เกษตรกร จ.ยะลา เข้าฝึกอบรมเพิ่มความรู้ปลูกพืช “ไผ่” แซมสวนยางฯ

เกษตรกร จ.ยะลา เข้าฝึกอบรมเพิ่มความรู้ปลูกพืช “ไผ่” แซมสวนยางฯ ด้านเลขาฯ ศอ.บต. ย้ำ พืชเศรษฐกิจมีตลาดรองรับ เป็นที่ต้องการในอนาคต
วันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2565) เวลา 12.30 น. ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมพัฒนาเกษตรกรปลูกไผ่ พืชเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนายถาวร บุญศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.กระทรวงพลังงาน (พน.) หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ จ.ยะลา และเกษตรกรเข้าร่วมอบรมเพิ่มความรู้เรื่องไผ่จำนวน 250 คน โดยภายในกิจกรรมมี การรับฟังการบรรยายข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากนักวิชาการ อาทิ การปลูกอย่างถูกวิธี การอารักขาพืช การเก็บเกี่ยว และการสร้างรายได้เสริมจากสวนไผ่ โดย เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ บริษัท คิงส์แพลนท์ การใช้ประโยชน์จากไผ่ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การถนอมเนื้อไม้ การเพิ่มมูลค่า และการส่งออกไม้ไผ่ โดย คุณสมจิตร พันธุ์เพ็ง ผู้สร้างอาคารไม่ไผ่ บริษัท กอมังดี อีกทั้งรับฟังการบรรยายหัวข้อ ไผ่สำหรับพลังงาน โรงไฟฟ้า ผลผลิต และรายได้ต่อไร่จากการปลูกไผ่ โดย คุณประเสริฐ หลักมั่น วิศวกรโรงไฟฟ้า
โดยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกี่ยวกับยางพารา ซึ่งเป็นพืชที่อยู่คู่กับประชาชนและเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรมีรายได้หลายช่องทางและไม่ควรยึดอาชีพทำสวนยางเพียงอาชีพเดียว โดยอาจจะมีการปลูกพืชชนิดอื่นๆแซมสวนยางพาราหรือสวนปาล์ม เพื่อไม่ให้พื้นที่ดินในสวนยางฯ ว่างเปล่า ต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถปลูกแซมยางเพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ นั่นคือ ไผ่ เนื่องจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีโรงไฟฟ้าชีวมวล ทั้งสิ้นจำนวน 15 โรง มีกำลังการผลิต 200 เมกกะวัตต์ และภายใน 1 วันต้องใช้พืชพลังงาน 900 ตัน และมีแนวโน้มจะมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพืชโตเร็วและพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้จึงเป็นพืชที่ตอบโจทย์ตลาด และคาดว่าสามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้ ทั้งนี้ต้นไผ่ในวันข้างหน้าจะเป็นพืชมิติใหม่ของการก่อสร้าง การออกแบบ และผลิตภัณฑ์เครื่องในที่จำเป็นอื่นๆอีกด้วย
จากนั้นเวลา 14.00 น. เกษตรกรผู้เข้าร่วมอบรม พร้อมด้วยนักวิชาการและหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่ฝึกอบรมภาคปฏิบัติการบริหารจัดการสวนไผ่แก่เกษตรกร ณ บ้านตะโละ ตำบลยะต๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา เพื่อฝึกสอนวิธีการปลูกและดูแลสวนไผ่ เมื่อปลูกแซมรวมกับยางพารา เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
ข่าว/อามีเนาะ อุเซ็ง ภาพ/สุฮัยมี มามะ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต.

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม