พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ สนับสนุนแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใช้ความมั่นคงของข้าราชการอยู่เหนือความยุติธรรม เปิดช่องให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติได้อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายว่า “สถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะวิกฤติเป็นเรื่องปกติที่ทุกประเทศจะต้องมี ผมได้ไปร่วมเวทีแลกเปลี่ยนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในกฎหมายของฝรั่งเศส อเมริกา ฟิลิปปินส์ อินเดีย บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งของไทยกฏอัยการศึกก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่กฎหมายความมั่นคงอยู่สามฉบับ คือ 1.กฎอัยการศึก 2.พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3.พ.ร.บ.ความมั่นคง”
“หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่แก้กฎอัยการศึกที่เขียนไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกปี พ.ศ.2475 เขียนว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้พระราชอำนาจในการประกาศหรือเลิกกฎอัยการศึก และในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 176 ในย่อหน้าสองกรณีมีความจำเป็นประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วนให้เจ้าหน้าที่ทหารย่อมกระทำได้ตามกฏหมายกฎอัยการศึก สรุปคือ ประกาศโดยทหารยกเลิกโดยพระมหากษัตริย์”
“ผมเห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เหมือนในต่างประเทศ ซึ่งถ้าดูเนื้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินของไทย เห็นด้วยกับมาตรา 5 พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจใช้ดุลพินิจได้ง่ายตีความอย่างกว้างขวางขัดหลักการสากล ให้อำนาจประกาศและขยายระยะเวลาที่ขัดหลักประชาธิปไตยไมสามารถมีระบบควาบคุมตรวจสอบกฏหมายจากสภาผู้แทนราษฏรด้วย แต่คณะกรรมการที่มีอยู่ในมาตรา 6 ที่มีทหารจำนวนมากตำแหน่ง คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ นโยบายของพรรคประชาชาติ ที่ส่งนโยบายให้ กกต.ที่มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีนโยบายเกี่ยวกับกฎหมายพิเศษ ในมาตรา 6 จะต้องให้บุคคลในท้องถิ่นชุมชนเข้ารวมเป็นคณะกรรมการด้วย เมื่อไทยประสบวิกฤติโควิด นำ พรก ฉุกเฉินมาใช้แทนพ.ร.บ.โรคติดต่อซึ่งมีคณะกรรมการอยู่ประมาณ 30 คน ที่มีความชำนาญป้องกันการแพร่ระบาดโรค เมื่อใช้พรก ฉุกเฉินจึงประสบความล้มเหลวจะเห็นว่าเกิดวิกฤติคนตายจากโควิด-19 ไปกว่า 20,000 คน ความจริงคือเป็นการยึดอำนาจจาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่มีรัฐมนตรีสาธารณสุขและบุคลากรสาธารณสุขจำนวนมากต้องต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคร้าย แต่เจตนารมย์ของรัฐบาลต้องการคุมอำนาจจึงนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปคุ้มครอง นี่คือโลกทางกฏหมาย แต่โลกความเป็นจริงของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามที่สมาชิกบางท่านได้พูดไปว่าเกิดเหตุไฟดับทั้งเมืองยะลา ได้มีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินขึ้นเมื่อปี 2548 เจตนาที่ประกาศเพื่อจะยกเลิกกฎอัยการศึก แต่ปรากฏว่าวันนี้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้บังคับใช้กฎหมายทุกอย่าง ทั้งกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งกฎอัยการศึกควบคุมตัวได้ 7 วัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินควบคุมตัวได้อีก 30 วัน พอไปใช้วิอาญาควบคุมตัวได้อีก 84 วัน สรุปว่าช่วงเวลา 37 วันนั้นคือช่วงเวลาของการละเมิดสิทธิมนุษยชน”
“หากดู พ.ร.ก.ฉุกเฉินก่อนที่ผมจะถูกย้ายจากการเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.มี 6,000 กว่าคดีเป็นการไปดำเนินการกับประชาชนมุสลิมทั้งหมด เพราะรัฐมีความรู้สึกว่าผู้ที่ก่อเหตุทั้งหมดเป็นอย่างนั้น เจตนาคือการใช้แก้ปัญหาความไม่สงบ แต่พี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าทำไมไม่เป็นธรรมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเลือกปฏิบัติขยายทั่วไปหมด เมื่อใช้ พรก ฉุกเฉินมาบังคับใช้ในช่วงโควิดในพื้นที่อื่นเราจะเห็นได้ว่าแทนที่จะมาป้องกันโควิดแต่เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาไปใช้กับนิสิตนักศึกษาและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หวังที่จะเอา พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปควบคุมและบังคับ”
“การเสนอแก้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในครั้งนี้ผมจึงอยากให้ไปปรับแก้ มาตรา 6 ต้องมีสัดส่วนของคนในพื้นที่ ตามสัดส่วนที่เหมาะสมในท้องถิ่น ที่สำคัญใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีหลักสำคัญในการใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบของฝ่ายตุลาการหรือฝ่ายสภา ไม่ให้มีการประกาศขยายเวลาโดยตามอำเภอใจ และการปฎิบัติภารกิจยึดถึงความมั่นคงของรัฐมากกว่าความมั่นคงของประชาชนจึงเป็นมูลเหตุของความขัดแย้ง และที่สำคัญในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐให้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เช่นการไม่ให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐคือช่องทางของการไม่โปร่งใสและการคอรัปชั่น ทหารหรือข้าราชการตำรวจหรือข้าราชการพลเรือนที่เข้าไปปฎิบัติหน้าที่ไม่ให้ความสำคัญการฝึกอบรมด้านการคุ้มครองสิทธิส่งผลให้มีการละเมิด และการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยังได้รับนิรโทษกรรมจากกฎหมายฉบับนี้ ถึงเวลาที่ควรจะแก้แล้ว”
มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
รองโฆษกพรรคประชาชาติ