กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ วอนใช้น้ำเย็นดับไฟใต้ ด้วยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ วอนใช้น้ำเย็นดับไฟใต้ ด้วยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ วอนใช้น้ำเย็นดับไฟใต้ ด้วยการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นราธิวาส เขต 4 พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ..

นายกมลศักดิ์ อภิปรายว่า “ในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นที่มาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า 17 ปี ได้ศึกษาร่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ได้ยื่นเสนอต่อสภา หลายเรื่องตรงประเด็น ตรงใจ ตรงกับแนวคิดพรรคประชาชาติที่จะให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจมีบางประเด็นที่ต้องเพิ่มเติม จากข้อเท็จจริงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ พรรคประชาชาติสนับสนุนให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเขียนร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินขึ้นใหม่”

“พ.ร.ก. ถูกบังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานกว่า 17 ปี ขณะที่พื้นที่อื่นบังคับใช้เป็นครั้งคราว เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 16 กรกฎาคม 2548 ถ้าเป็นเด็กที่เกิดในปีนั้น ปัจจุบันก็ใกล้จะบรรลุนิติภาวะแล้ว และเด็กคนนั้นที่เติบโตมากับกฎหมายฉบับนี้อาจจะเป็นคนที่เคยถูกทหารเชิญตัวในฐานะผู้ต้องสงสัย”

“เห็นด้วยในหลักการที่ว่าด้วยการถ่วงดุลการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่ออายุทุก 3 เดือน เราในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ทราบว่ามีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นในร่างกฎหมายฉบับใหม่คือ 30 วันต่ออายุครั้งหนึ่ง โดยระบบรัฐสภา นั่นคือการถ่วงดุล สิ่งที่เป็นปัญหาได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็เห็นว่าหากไม่มีกฎหมายฉบับนี้แล้วปฏิบัติงานไม่ได้ ยากต่อการแก้ปัญหา จริงอยู่ที่กฎหมายนี้จะทำให้ง่ายต่อการปฎิบัติงาน แต่ยากที่จะแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อจิตใจมาถึงทุกวันนี้ เช่นระยะเวลาการควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งละ 7 วัน และต่ออายุได้อีก 30 วันโดยไม่ต้องใช้กฎหมายปกติ เมื่อสงสัยบุคคลใดว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ เจ้าหน้าที่สามารถที่จะนำกำลังเข้าไปปิดล้อม ตรวจค้น ควบคุมตัว สามารถพาตัวไปที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวน เรือนจำ หรือสถานที่ราชการอื่นๆ มักจะเป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กำหนดเอง นี่คือช่องว่าง หลายครั้งที่เคยนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เคยเปิดคลิปวิดีโอเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรณีล่าสุดที่นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส ลงพื้นที่ที่บ้านบ่อทอง ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ปิดล้อมบ้านหญิงแม่ลูกอ่อนที่มีสตรี เด็ก และคนชราอยู่ภายในบ้าน เราได้ส่งเสียงมาตลอดว่าพอเถอะ ยกเลิกเถอะ แก้ไขเถอะ แต่ฝ่ายบริหารก็ยังไม่จบเพราะยังเชื่อว่ากฎหมายนี้สามารถแก้ปัญหาได้”

“พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใช้อยู่ทุกวันนี้มีตั้งแต่ปี 2548 แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ในหมวด 3 เรื่องสิทธิเสรีภาพ หมวด 5 แนวนโยบายของรัฐ มาตรา 77 บัญญัติไว้ชัดเจนว่ากฎหมายต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันกับสถานการณ์ ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่บังคับใช้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องทบทวนอย่างจริงจัง เพราะสิ่งที่บังคับใช้อยู่ก่อให้เกิดความรู้สึกทางจิตใจ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมอย่างไม่จบสิ้น ขอวิงวอนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใช้ดุลพินิจพิจารณาเอาน้ำเย็นมาราดกองไฟ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับนี้ไม่ทำให้ไฟใต้ดับมอดเสียทีเดียว แต่จะเติมเชื้อไฟ ถ้ายิ่งใช้กฎหมายนี้โดยลุแกอำนาจ มันจะก่อเกิดเป็นไฟขึ้นใหม่ในวันข้างหน้า”
________________


มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
รองโฆษกพรรคประชาชาติ

การเมือง