พ่อเจ้าทิพช้าง พระญาสุลวฤาชัยสงคราม ผู้มีคุณต่อแผ่นดิน

พ่อเจ้าทิพช้าง พระญาสุลวฤาชัยสงคราม ผู้มีคุณต่อแผ่นดิน

พ่อเจ้าทิพช้าง พระญาสุลวฤาชัยสงคราม ผู้มีคุณต่อแผ่นดิน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ของทุกปี ชาวลำปางโดยเทศบาลนครลำปางได้จัดให้มีพิธีวางพวงมาลา บวงสรวงสักการะ และบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายต่อพ่อเจ้าทิพช้าง วีรบุรุษของนครลำปาง ผู้วางรากฐานความมั่นคงของนครลำปางให้เป็นปึกแผ่น และเป็นอิสระจากการกดขี่ข่มเหงโดยข้าศึกศัตรูผู้เข้ามายึดครอง หลายคนยังไม่คลายความสงสัยว่าพ่อเจ้าได้กอบกู้นครลำปางแล้ว ได้ส่งผลต่อสยามประเทศอย่างไร เพราะลำปางไม่ได้เป็นเมืองหลวงนครล้านนา และพ่อเจ้าไม่ได้สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินและตั้งราชวงศ์ใดขึ้นมาครองราชธานี

ในยุคปลายแห่งกรุงศรีอยุธยา ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา ทางแถบล้านนายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า และได้แต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆ ขึ้นตรงกับพระเจ้ากรุงอังวะ เมืองที่เข้มแข็งก็ปกครองกดขี่เมืองที่อ่อนแอกว่า ทางนครลำปางผู้คนต่างระส่ำระสาย และอ่อนแอขาดผู้นำที่จะประกาศตนเป็นอิสระได้ เป็นบุญของแผ่นดินที่ได้มีพรานป่าคือหนานทิพจักร ได้ถือกำเนิดที่บ้านปงยางครก เมื่อเติบใหญ่เป็นผู้เฉลียวฉลาด มีวิชาอาคมแก่กล้า และมีความกล้าหาญไม่เกรงกลัวสิ่งใดแม้พญาช้างสารที่ตกมัน โดยใช้เพียงมีดเล่มเดียวต่อสู้โดยตัดหางช้างจนวิ่งหนีเข้าป่าไป จนได้รับสมญานามว่าหนานทิพช้าง เมื่อได้รับการเชื้อเชิญจึงอาสาปราบเจ้ามหายศจากนครลำพูน ผู้มาตั้งศูนย์บัญชาการทัพที่วัดพระธาตุลำปางหลวง และคิดการซึ่งไม่มีใครกล้าคิด เหมือนพาตัวเข้าไปตายชัดๆ โดยมุดท่อน้ำพร้อมปืนไฟซึ่งบรรจุดินปืนและกระสุนแบบเต็มกำลัง พร้อมสมุนคู่ใจอีกสองคน เข้าไปยิงเจ้ามหายศซึ่งนั่งรอบล้อมไปด้วยทหารหาญข้างกาย ด้วยการลั่นไกครั้งเดียวจนเสียชีวิตคาที่ และร่วมกับกำลังพลซึ่งล้อมอยู่รอบนอกวัดฆ่าฟันเอาชนะคนหมู่มากซึ่งหมดกำลังใจแล้ว และขับไล่จนพ้นเขตแดนนครลำปาง จึงได้รับการปราบดาภิเษกขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง พระนามพระญาสุลวฤาชัยสงคราม และตั้งตัวเป็นเมืองอิสระโดยได้รับการรับรองจากพระเจ้ากรุงอังวะของพม่า และเป็นผู้ให้กำเนิด เจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว ผู้ครองนครลำปางองค์ต่อมา พระบิดาของเจ้าเจ็ดตนวีรบุรุษของล้านนา

บุญคุณของพ่อเจ้าทิพช้างต่อแผ่นดินสยามคืออะไร คำตอบก็คือท่านเป็นต้นแบบพันธุกรรมของแม่ทัพผู้กล้า ผู้มีความเข้มแข็งดุดัน มีความเชี่ยวชาญในการรบ ไม่เกรงกลัวข้าศึกศัตรู และทำการปราบปรามให้สิ้นซาก เมื่อมีแม่ทัพเช่นนี้มีหรือที่เหล่าทหารหาญและพลรบจะครั่นคร้ามอริราชศัตรู แต่กลับมีความฮึกเหิม บางครั้งอาจเหี้ยมโหด จนรักษาแผ่นดินล้านนาให้อยู่ในอาณาจักรสยาม เป็นแผ่นดินให้เราได้อยู่อาศัยจนทุกวันนี้

ยามเมื่อเชียงใหม่และลำพูนถูกร้างเมืองในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เพื่อไม่ให้พม่ามาซ่องสุมกำลังอีก และถูกทิ้งให้ร้างเป็นเวลาถึง 15 ปี สภาพของกรุงศรีอยุธยาหลังกรุงแตก หรือกรุงสุโขทัยเมื่อล่มสลายและร้างแล้ว คงไม่แตกต่างจากเชียงใหม่และลำพูนตอนนั้นมากนักมีแต่ซากปรักหักพัง ต้นไม้เถาวัลย์และสัตว์ป่า ไร้ผู้คนอยู่อาศัย พระเจ้ากาวิละ และน้องชายคือพระญาธัมลังกา พระญาคำฝั้น พระญาคำมูลฯ จากนครลำปางผู้เป็นนัดดาของพ่อเจ้าทิพช้าง ช่างกล้าแท้ที่รับสนองพระบรมราชโองการจากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 1 มาสร้างเมืองเชียงใหม่ และลำพูนขึ้นมาใหม่ โดยนับเริ่มจากศูนย์ ไม่มีทั้งผู้คน อาวุธยุทโธปกรณ์ บ้านเรือน วัดวาอาราม และคลังมหาสมบัติ และรู้อนาคตแล้วว่าพม่าต้องกลับมารบพุ่งเอาคืนในเวลาไม่ช้า ด้วยพันธุกรรมของนักสู้ ผู้ไม่ยอมแพ้ แม้เป็นเรื่องราวที่สุดเหลือเชื่อ แต่ก็สามารถทำจนสำเร็จ แม้ต้องไปกวาดต้อนผู้คนในดินแดนพม่าครั้งแล้วครั้งเล่า และสู้รบป้องกันดินแดน จนสุดท้ายสามารถขับไล่ข้าศึกจนพ้นแผ่นดิน และขยายอาณาเขตครอบครองดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินทั้งหมดจรดประเทศจีน เราท่านทั้งหลายสามารถตรองดูได้ว่า หากเป็นตัวเราจะกล้าคิด กล้าทำอย่างนี้ได้หรือไม่ บุญคุณอันยิ่งใหญ่นี้ขอยกให้กับผู้ให้กำเนิดพันธุกรรมล้ำค่านี้แก่แผ่นดิน พระญาสุลวฤาชัยสงคราม พ่อเจ้าทิพช้างของคนล้านนา ซึ่งพวกเราต่างภาคภูมิใจที่ได้ไปร่วมพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ และวางพวงมาลาสักการะในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ลานหน้าพระอนุสาวรีย์ พ่อเจ้ามิได้เป็นแค่ต้นตระกูลของเจ้านายฝ่ายเหนือเท่านั้น แต่ยังเป็นที่เคารพ สักการะของประชาชนชาวล้านนา เป็นพ่อเจ้าของผู้คนทั้งหลายทั้งมวลอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม