“ประชาชาติ” ชงแก้ พ.ร.บ.อุทยานฯ
ช่วยชาวบ้านถูกเขตป่าทับที่ดินทำกิน
พรรคประชาชาติจัดเวิร์คชอปประเด็น “ที่ดินทำกิน” ติวเข้ม ส.ส.หวังแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หลังเจอลิดรอนสิทธิ์จาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับ คสช. “ทวี” ยกตัวอย่างอุทยานบูโด-สุไหงปาดี กระทบคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ลุยเสนอร่างแก้ไข ยื่นได้ทันทีหลังเปิดสมัยประชุม 22 พ.ค.
วันพฤหัสบดีที่ 19 พ.ค.65 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สส.แบบบัญชีรายชี่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ “เวิร์คชอป” ประเด็นปัญหาที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์
ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งแกนนำพรรค และ ส.ส.พรรคในพื้นที่ เช่น นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ นายกูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส เขต 3 นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส เขต 4 โดยสาระสำคัญของการประชุมคือเตรียมผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เนื่องจากกระทบสิทธิ์ของพี่น้องประชาชน และทำให้ประชาชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินที่ถูกประกาศเขตอุทยานฯ กลายเป็น “ผู้อาศัย” ทั้งที่อาจอยู่มาก่อนประกาศ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า พรรคประชาชาติจัดเวทีและให้ความช่วยหลือประชาชนในพื้นที่ไปแล้วหลายครั้ง แต่พบปัญหานี้ยังทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนลำบากอยู่ อยากจะให้มีการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม หรือแก้ไขให้ประชาชนเห็นผลจริงๆ
ดังนั้นเมื่อจะมีการเปิดสมัยประชุมสภา ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 22 พ.ค. และจะประชุมสภาผู้แทนราษฎรกันวันที่ 24-25-26 พ.ค.นั้น วันที่ 25 พ.ค.จะมีรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เข้าสู่วาระให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ จึงน่าจะเป็นโอกาสที่พรรคประชาชาติจะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป
“การตั้งกรรมาธิการในลักษณะนี้ ไม่ว่ารัฐบาลยุคใดสมัยใดก็ตั้ง พอตั้งแล้วก็ศึกษา และจัดทำรายงานเก็บไว้ที่สภา อย่างสมัยท่านอารีเพ็ญ ก็มีรายงานของท่านอารีเพ็ญเก็บไว้ที่สภา แล้วก็มีรายงานเก่าๆ เยอะเลย แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ แต่ครั้งนี้เราจะทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้นมา” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในรายงานที่จะเสนอสภา มีประเด็นเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากกว่า 220 ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ มีชุมชนที่ถูกประกาศแนวเขตป่าไม้ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ครอบคลุมทั้งสามจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลามากถึง 9 อำเภอ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจำนวนมาก เพราะถูกประกาศเขตอุทยานทับที่ดินที่เคยอยู่และทำกินมาก่อน
“เรื่องของปัญหาที่ดินได้ถูกบันทึกไว้ในสภา ที่สำคัญคือปัญหาที่เกิดจาก พ.ร.บ.อุทยานฯ หรือ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ หรือ เรียกว่ากลุ่มป่าอนุรักษ์ เป็นกฎหมายฉบับใหม่เพิ่งออกเมื่อเดือน พ.ค.62 คือเลือกตั้งเสร็จยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรรัฐบาล คสช ได้รีบออกกฏหมายเลย เพราะถ้าออกในสมัยที่มีรัฐบาลเลือกตั้ง กฎหมายลักษณะนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคงไม่มีใครยอมให้ออก”
“กฎหมายนี้พอออกมา ได้ยกเว้นมาตราสำคัญๆ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งในรัฐธรรมนูญจะคุ้มครองสิทธิประชาชน แต่กฎหมายนี้ยกเว้น เช่น ยกเว้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ที่บอกบุคคลมีเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ถ้าจะจับคน จะต้องมีหมายของศาล แต่กฎหมายนี้ไม่ต้องเลย ถ้าอยู่ในที่อุทยานฯ เจ้าหน้าที่มาจับกุมได้เลยไม่ต้องไปขอหมายศาล ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 33 บุคคลมีสิทธิเสรีภาพในเคหะสถาน แต่กฎหมายอุทยานฯ ทั้งจับทั้งค้นไม่ต้องใช้หมาย เพราะมีการยกเว้นรัฐธรรมนูญ” เลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าว
พ.ต.อ.ทวี บอกด้วยว่า ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติมีพื้นที่หลายแห่งที่ประกาศเขตทับที่ของประชาชนที่อยู่มาก่อนป่าประกาศมีมานานแล้ว การแก้ปัญหาได้ใช้มติ ครม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541-2542 ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ และให้การคุ้มครองไม่ให้ถูกดำเนินคดี ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา แต่กฏหมายที่ออก ปี 62 บัญญัติให้เป็นป่าอนุรักษ์ได้เหมารวมประชาชนที่อยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินมากก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ต้องกลายเป็น “ผู้อยู่อาศัย” ในที่ดินที่มีการพิสูจน์เป็นสิทธิ์ของประชาชน และกฏหมายยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอุทยานฯ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชาติได้รับการร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบมีความเดือดร้อนจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องแก้ไข พรบ อุทยาน 2562 กับ พรบ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ในหลักการที่แก้ไขของพรรคประชาชาติ คือ “พื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์ ต้องมิไช่เป็นที่ดินที่มีหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของประชาชนตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นของบุคคลใดมาก่อน หรือต้องมิได้เป็นที่ดินที่มีประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อนการกำหนดให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนอยู่อาศัย ทำกินหรือครอบครองทำประโยชน์มาก่อน ให้เพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ทับซ้อนออก” โดยได้เตรียมเสนอร่างแก้ไขเอาไว้แล้ว และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฏหมาย คาดว่าจะยื่นหลังเปิดสมัยประชุมสภา