8 ปี รัฐประหาร คสช. สร้างลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี แยกเป็น“เรา” เป็น “เขา” ผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้ามที่เป็นศัตรู”
.
การทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ที่แอบอ้างความจำเป็นเพื่อแก้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยและการปล่อยให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศต่อไปส่อไปทางทุจริตประพฤติมิชอบจะเกิดความเลวร้าย…จึงจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน
.
การคืนประชาธิปไตยของ คสช. โดยผ่านรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ประชาธิปไตย แต่ได้ “คณาธิปไตย” แทน ที่มีการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร โดย พลเอก ประยุทธ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยใช้ สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ออกเสียงเลือก พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. เป็นนายกรัฐมนตรี
.
การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นอกจากทำลายประชาธิปไตยแล้ว ยังมีเป้าประสงค์สำคัญ คือการล้มล้างความผิดให้ทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 ศพ กลางเมืองหลวง ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บังคับบัญชาทหารในช่วงที่มีการสลายการชุมนุม ซึ่งการช่วยเหลือคดี การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 นั้น ศาลยุติธรรมได้ไต่สวนสาเหตุการตายแล้วว่าเกิดจากกระสุนของฝ่ายทหาร แต่ตาม พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 เมื่ออ้างว่าทหารกระทำความผิดตามลำพังไม่มีพลเรือนร่วมกระทำความผิดด้วย จึงต้องนำคดีสู่ศาลทหารเท่านั้น ทำให้คดีสลายการชุมนุมปี ’53 พนักงานสอบสวนต้องส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการทหาร และผลคดีคืออัยการทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือไปไม่ถึงศาลหทารที่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิผู้เสียหายจะนำคดีฟ้องต่อศาลเองด้วย กระบวนการนำคดีสู่ศาลทหารและอัยการศาลทหาร จึงเป็นการตัดตอนการนำเรื่องสู่กระบวนการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรม
.
ปัญหาเรื่องความยุติธรรมกรณีตาม พรบ พระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 ที่กระทบต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียกร้องให้โอนคดีจากศาลทหาร ไปยังศาลยุติธรรมมีมาโดยตลอด อาทิ คดีนายฟัครุคดีน บอตอ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนดารุสลาม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส และดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นผู้เสียหายถูกยิงด้วยอาวุธปืน เหตุเกิดช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ส.ค. ’49 อดีต ส.ว. ฟัครุดดีน ถูกลอบยิงบาดเจ็บขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกไปทานน้ำชาที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ ท้ายที่สุดมีการจับผู้กระทำความผิด 1 คน เป็นพลทหาร คดีต้องขึ้นศาลทหาร ส.ว.ฟัครุดดีน ในฐานะผู้เสียหาย ซึ่งถือว่าเป็นพลเรือน จะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ไม่ได้ เพราะธรรมนูญศาลทหารห้ามไว้ การพิจารณาใช้เวลาในศาลทหารนานมาก สุดท้ายศาลทหารจังหวัดปัตตานียกฟ้องและคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผ่านมาแล้ว 15 ปี “ความล่าช้า คือความอยุติธรรม”
.
พรรคประชาชาติได้เสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ… ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม คดีที่ทหารเป็นผู้กระทำผิดซึ่งผู้เสียหายเป็นพลเรือนให้พิจารณาที่ศาลยุติธรรมเหมือนบุคคลทั่วไป เพราะมิฉะนั้นจะเป็นความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากข้าราชการอื่น ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือข้าราชการหน่วยงานใดๆก็จะถูกพิจารณาโดยศาลยุติธรรมเสมอภาคกันทั้งสิ้น
.
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร นำเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 มติที่ประชุมเห็นชอบให้นำร่างร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่…) พ.ศ… ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนรับหลักการ ต่อมา คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 โดย “รัฐบาลมีความเห็นที่จะไม่เห็นชอบกับการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ..” ส่งร่างคืนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาพร้อมข้อสังเกตุ แต่พบว่า มีหลายหน่วยงานที่มีความเห็นชอบควรรับหลักการ ร่าง แก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่..) พ.ศ ตามที่พรรคประชาชาติเสนอแก้ ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เห็นว่าสิทธิในการฟ้องคดีด้วยตนเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามข้อ 14.3 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จึงเห็นด้วยที่มีการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าว และสำนักงานศาลยุติธรรม ที่เห็นว่า สิทธิการเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา โดยผู้เสียหายหรืออัยการทหารในฐานะผู้ดำเนินการแทน จะไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาต่อศาลทหารได้ ทำให้ต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่อาจไม่สะดวกเท่าที่ควร ต้องเสียเวลาในการดำเนินการรวมถึงค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้ จึงเห็นสมควรมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร”
.
“8 ปี รัฐประหาร คสช. สร้างลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี แยกเป็นเราเป็นเขา ผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้ามที่เป็นศัตรู” รัฐบาลใช้อำนาจนิยมผ่านในรูปของกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ไม่ยกเว้นแม้แต่ตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนยังใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ปลดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วแต่งตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นคนของ รสช. แทน ให้ว่างเว้นการเลือกตั้งไป 8 ปี จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่ ผลการเลือกตั้งจึงเป็นการพิสูจน์การปกครองตามลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดีของ คสช. กับผู้สมัครที่ถูก คสช. ผลักให้อีกฝ่ายเป็นตรงกันข้ามหรือเป็นศัตรู (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร) หรือฝ่ายประชาธิปไตย ที่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ฝ่ายประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลาย วาทกรรมทางการเมืองคนดีจึงเป็นเพียงกลอุบายเท่านั้น ความจริงประชาชนต้องการระบอบที่การปกครองที่มาจากการยอมรับของประชาชนหรือต้องให้ประชาชนเลือกผู้ที่ขึ้นมาปกครอง ผู้ปกครองไม่ใช่เทวดา (คนดี) แต่ต้องเป็นผู้ที่ประชาชนยอมรับและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้พลังของสติปัญญาของเขาในการตัดสินปัญหา
.
การไม่รับร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจเพราะพฤติกรรมลัทธิชาตินิยมการเมืองคนดี ที่ให้ความสำคัญอำนาจและผลประโยชน์อยู่เหนือประชาชนและความยุติธรรม การที่พรรคประชาชาติเห็นว่า ”ทหาร” เป็นอาชีพที่มีความสำคัญและมีเกียรติ แต่ทหารต้องเป็นพลเมืองของประเทศที่เหมือนพลเมืองทั่วไป และเจ้าหน้าที่รัฐทุกสาขาอาชีพ หากไม่แก้ไข ทหาร จะกลายเป็นอภิสิทธิ์ชน เมื่อกระทำความผิดแล้วได้รับการยกเว้นไม่ต้องพิจารณาที่ศาลพลเรือน ต้องไปพิจารณายังศาลทหาร และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนให้มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่สิทธิในการฟ้องคดีเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามหลักสากล สามมารถเข้าถึงกระบวนยุติธรรมอย่างสะดวกที่เสมอหน้ากันและเป็นมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน
.
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร แบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ