มทภ.4 พบปะหารือ ร่วมกับ ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) ในประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยชุมชนมีส่วนร่วมผ่านสภาประชาธิปไตยตำบล และหลักศาสนาวิถีอิสลาม จชต. สร้างชุมชนเข้มแข็ง เอาชนะยาเสพติด คืนคนดีสู่สังคม คืนความสันติสุขในพื้นที่
วันนี้ 3 มิถุนายน 2565 ที่ กองร้อยทหารพรานที่ 4216 กรมทหารพรานที่ 42 บ้านมะนังยง ตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 พร้อมคณะ ลงพื้นที่พบปะหารือ ร่วมกับ ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (ด้านประสานการมีส่วนร่วม) ในประเด็นการแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ร่วมหารือ พร้อมผลักดันกลุ่มสตรีเข้ามามีส่วนร่วมหาทางออกแก้ปัญหายาเสพติดครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่บำบัดจนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ มีอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
สำหรับการดำเนินการขับเคลื่อนตามโครงการครอบครัวสภาประชาธิปไตยตำบลมะนังยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี โดยกำหนดเป็นหมู่บ้าน CBTx นั้น สาเหตุเกิดจากปัญหาเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการลักขโมย ทำร้ายร่างกายที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากยาเสพติด จึงคิดริเริ่มจัดตั้งโครงการขับเคลื่อนโครงการ CBTx หรือชุมชนบำบัดขึ้น ดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี ในการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยใช้ชุมชน ศาสนาเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบของผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต และผู้ติดยาเสพติดทั่วไป ผ่านกระบวนการ 5 ขั้นตอน คือ การค้นหา การคัดแยกระหว่างผู้เสพ และผู้ติดยาเสพติด การส่งเข้าบำบัดอาการ การติดตามเยาวชนที่ผ่านการบำบัด และกระบวนการคัดกรองของโครงการ สุดท้ายคือ การสร้างอาชีพพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป โดยบทบาทหน้าที่ในการทำงานของคณะทำงานโครงการในหมู่บ้านคือ มีหน้าที่สอดส่องดูแลพฤติกรรมของผู้ที่ผ่านการบำบัดกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับสังคมในหมู่บ้าน ในครัวเรือน ในการใช้ชีวิตประจำวัน และหากพบว่ามีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงกลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก ทางคณะกรรมการของแต่ละหมู่บ้านก็จะแจ้งให้กับผู้ใหญ่บ้านทราบ โดยการปฏิบัติของผู้ใหญ่บ้านก็จะนำพฤติกรรมของเยาวชนที่ติดตามอยู่ในหมู่บ้านมาชี้แจงในการประชุมประจำเดือนเพื่อดำเนินกิจกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งโครงการ CBTx หรือชุมชนบำบัดดำเนินมาแล้วกว่า 3 ปี มีผู้เข้ารับการบำบัดแล้วกว่าหนึ่งพันคน หลังเข้ารับการบำบัดบางรายได้กลับสู่ชีวิตปกติ เลิกขาดจากยาเสพติด กลับสู่สังคม ครอบครัว มีอาชีพ มีรายได้
โดยแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ” การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน ผู้นำชุมชนที่ประกอบไปด้วยผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ผู้นำทางธรรมชาติ ตลอดจนกลุ่มสตรีที่มีอยู่มาร่วมด้วยช่วยกันเป็นหูเป็นตา สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน ให้กับเยาวชน สร้างความเข้มแข็งการมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังติดตามคนหลงผิดเข้าสู่กระบวนการสถานบำบัด รักษาตามขั้นตอน เช่นโครงการ CBTx โดยชุมชนมะนังยงได้ดำเนินการอยู่ ถือเป็นโครงการที่จะสามารถดำเนินการได้ในทุกที่ เพื่อสร้างชุมชนสีขาว ปลอดยาเสพติด ที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณทุกคน ทุกส่วน ที่มองเห็นปัญหา และลงมือทำ ช่วยกันแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน วันนี้ได้เห็นถึงความร่วมมือ ที่ทุกคนตระหนักถึงความน่ากลัว ความอันตรายของยาเสพติด และก็ได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง พ่อแม่พี่น้อง ที่มีลูกหลานหลงผิดติดยา เข้ารับการบำบัดรักษาตามขั้นตอน มีกฎมีระเบียบ มีหลักการในการบำบัด จากเบาไปหาหนัก ให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเด็ดขาด จนสามารถก้าวเข้าสู่สังคมภายนอก กลับมาหาครอบครัวได้อย่างปกติ นี่คือความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยตรงในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลูกหลานหลุดพ้นจากยาเสพติด ครอบครัวกลับมามีความสุข พื้นที่ก็จะเกิดสันติสุข ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานในความร่วมมือได้สานต่อการทำงานเป็นรูปแบบ เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนอื่น เพื่อความสำเร็จต่อไป”