ศอ.บต. ดึงผู้นำชุมชน-คกก.อิสลาม ยกระดับความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตาม พรบ.ไกล่เกลี่ยฯ 2562

ศอ.บต. ดึงผู้นำชุมชน-คกก.อิสลาม ยกระดับความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตาม พรบ.ไกล่เกลี่ยฯ 2562

ศอ.บต. ดึงผู้นำชุมชน-คกก.อิสลาม ยกระดับความรู้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตาม พรบ.ไกล่เกลี่ยฯ 2562

วันนี้ (14 สิงหาคม 2565) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมพัฒนาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและการประนีประนอมยอมความตามบริบทเชิงพื้นที่ ดึงผู้นำชุมชน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล พร้อมคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นผู้แทนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น อดีตกรรมการแพทยสภา และอดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เป็นประธานเปิดกิจกรรมพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ และมีนายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้กล่าวรายงานการดำเนินกิจกรรม

รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า รัฐบาลจัดตั้ง ศอ.บต. เพื่อเป็นหน่วยงานหนุนเสริมความมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีกินมีอาชีพ ให้ความเป็นธรรมและให้โอกาสแก่ประชาชในพื้นที่ ในส่วนกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขจัดความขัดแย้งนั้น ในยุคโลกาภิวัตน์ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งของสังคมได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย ระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ช่องว่างของคนมีความรู้กับคนไม่มีความรู้ ช่องว่างระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีหลายหน่วยงานและมีกฎหมายหลายฉบับที่มาเกี่ยวข้อง ในส่วนของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้นำชุมชนจึงเข้ามามีบทบาทในการจัดการความขัดแย้งของประชาชน ทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยจัดทำฮูกุมปากัต หรือ ธรรมนูญชุมชน ในการจัดความขัดแย้งและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยพบว่า ในแต่ละจังหวัด ผู้นำศาสนาสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้ประมาณ 300-400 เรื่องต่อปี แต่ในกระบวนการไกล่เกลี่ยยังพบว่า บางเรื่องยังไม่มีการบันทึก หรือ บันทึกแต่ไม่สามารถนำไปใช้ในกระบวนการพิจารณาของศาลได้

ด้านศาตราจารย์ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ กล่าวว่า พรบ.ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้ให้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้มีการพูดคุย เพื่อไกลเกลี่ยและนำมาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ผู้ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยจึงต้องมีจรรยาบรรณ อย่างไรก็ตามงานวิจัยภาพรวมสันติภาพระดับจังหวัดในประเทศ ปรากฏว่า จังหวัดยะลาเป็นจังหวัดสีเขียว ซึ่งมีสันติภาพดี มาจากตัวชี้วัดในหลายด้าน อาทิ ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม

อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมพัฒนาระบบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ดำเนินการขึ้นตามหลักสูตรคณะอนุกรรมการส่งเสริม พัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานการไกล่เกลี่ย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม สืบเนื่องจาก ศอ.บต. เล็งเห็นว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายมิติ โดยกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขและยุติปัญหา ซึ่งผู้นำชุมชนเป็นบุคคลแรกในการดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความขัดแย้งทั้งทางแพ่งและอาญาตามหลักการทางศาสนา ก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม