มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ กับ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตั้งอยู่เลขที่ 128 ถนนห้วยแก้ว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จตุฤทธิ์ ทองปรอน ตำแหน่ง รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ผู้มีอำนาจผูกพันในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มอบหมายให้รองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา เป็นผู้ร่วมลงนาม กับ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด (ทะเบียนนิติบุคคลเลขที่ 0845563002091) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 6/9 หมู่ 3 ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย นายศิวพงศ์ เลื่อนราม ประธานกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม โดยทั้งสองฝ่าย มีความประสงค์จะดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 13 ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบในสถาบันการศึกษา เพื่อจัดสร้างฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ การพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนในสาขาสัตวศาสตร์และประมง ทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการผลิตปศุสัตว์และประมง และบริการวิชาการสู่ชุมชน โดยมีหลักการและเหตุผล เนื่องจากสาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน มีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตด้านสัตวศาสตร์และประมง มีการทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการผลิตปศุสัตว์และประมง และการบริการวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมแก่ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพ ให้ชุมชนมีรายได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด เป็นภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมการรีไซเคิลขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ การนำวัตถุดิบชีวมวล วัตถุดิบผลพลอยได้ทางการเกษตรแปรรูปประยุกต์เพื่อใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และเพื่อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงด้วยนวัตกรรม “เครื่องแปลงเศษอาหารและเศษวัชพืชด้วยจุลินทรีย์ภายใน 24 ชั่วโมง” ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ต้องการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ (Research and Innovation Development for Livestock and Fisheries Farm Prototype Project) ชื่อย่อ โครงการ RAID for LFP เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่เชิงอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง ที่มีการวิจัยเป็นฐานต่อยอดสู่การผลิต การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมช่วยในการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมง การพัฒนาจัดการเรียนการสอนนักศึกษา เพื่อส่งเสริมและบ่มเพาะธุรกิจปศุสัตว์และประมงแก่นักศึกษา การพัฒนาเกษตรกร ตลอดจนผู้สนใจในอาชีพการทำปศุสัตว์และประมง ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีรายได้เพียงพอ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ส่งผลกระทบต่อชุมชนให้มีความมั่นคงทางอาหาร เกิดความมั่งคั่งและยั่งยืน นำไปสู่การลดการใช้พื้นที่ทำการเกษตรเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ขยายผลสู่การออกแบบมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพสีเขียวบนฐานนวัตกรรม (Bio-circular green economy หรือ BCG economy) ให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero waste) และมีเป้าหมายขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์และประมงของประเทศสู่ความยั่งยืน (Sustainable development goal หรือ SDG) ต่อไป โดยโครงการฯ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อจัดสร้างฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ที่มีการบริหารจัดการที่ทันสมัย สำหรับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ฝึกประสบการณ์อาชีพการทำปศุสัตว์และประมงให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เกษตรกร ตลอดจนผู้สนใจอาชีพการทำปศุสัตว์และประมง 2) เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและบ่มเพาะธุรกิจปศุสัตว์และประมงให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เกษตรกร ตลอดจนผู้สนใจอาชีพการทำปศุสัตว์และประมง ให้เป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ มีรายได้มั่นคงและความยั่งยืนต่อไป 3) เพื่อเป็นศูนย์พัฒนาอาชีพการทำปศุสัตว์ อาทิ ศูนย์การตลาดเนื้อคุณภาพ ศูนย์กลางตลาดน้ำนมดิบ ศูนย์กลางตลาดไข่ไก่และไข่เป็ด ศูนย์แปรรูปผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ และอื่น ๆ ให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ 4) เพื่อเป็นศูนย์การศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี อาชีพและการทำปศุสัตว์และประมงให้กับเกษตรกรและประชาชนผู้สนใจ 5) เพื่อเป็นแหล่งหารายได้ระหว่างการเรียนของนักศึกษา ทั้งนี้ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เป็นต้นไป โดยการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านการจัดการทำฟาร์มปศุสัตว์และประมงต้นแบบ ระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กับ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ในครั้งนี้ มีผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. สุนทร วิทยาคุณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร รองศาสตราจารย์ ดร. เกชา คูหา รองคณบดีฯ หัวหน้าสาขา หัวหน้าหลักสูตร คณาจารย์ นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร นางนราพร จันทร์พิบูลย์ ผู้อำนวยการกองบริหารทรัพยากรน่าน ตลอดจนมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ คือ นางวริญญา นรินทร์ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ตัวแทนจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ นายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน บริษัทไฟฟ้าหงสาจำกัด รวมถึงสื่อมาลชนทุกแขนงในจังหวัดน่าน ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ด้วย
/บุญยงค์ สดสอาด รายงาน