ศอ.บต. จัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเด็กเยาวชนและประชาชนกลุ่มเปราะบาง พื้นที่ จชต. ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย เน้นตัดอคติเปลี่ยนผ่านจากความรู้สึกคับแค้นไปสู่ความรู้สึกที่ปรองดอง
เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นําโดยพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. โดยการสนับสนุนของกระทรวงยุติธรรม (กรมราชทัณฑ์) ร่วมกันจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเด็กเยาวชนและประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมาย กิจกรรมจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 24 – 29 กันยายน 2565 โดยนําสมาชิกครอบครัวของผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างต้องโทษ ณ เรือนจํากลางบางขวาง นนทบุรี เครือข่ายผู้เคยผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้และเครือข่ายช่วยเหลือผู้เคยผ่านกระบวนการยุติธรรม (ประมาณ 120 คน) เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง จํานวน 42 คน เพื่อเป็นการเสริมพลังใจให้กับครอบครัวและผู้ต้องขัง ณ เรือนจํากลางบางขวาง รวมทั้ง จัดให้มีการทัศนศึกษาพบปะเยี่ยมเยียนชุมชนพี่น้องมุสลิมที่มัสยิดคลองเคล็ด โรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ และ มูลนิธิโรงเรียนศาสนาศาสนูปถัมภ์ เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนรู้วิถีการดําเนินชีวิตภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และกิจกรรมศิลปะบําบัดเพื่อเสริมพลังทางบวกให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบฯ รวมทั้ง ร่วมสร้างทิศทางและสนับสนุนโอกาสการดําเนินชีวิตได้อย่างเป็นรูปธรรม
พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ถือว่าเรากำลังสร้างความยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านจากความรู้สึกคับแค้นไปสู่ความรู้สึกที่ปรองดอง สิ่งที่ทางกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมได้ทำอยู่ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาก ความรุนแรง พรากชีวิต ทรัพย์สินและโอกาสของคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยน เปลี่ยนจากความเกลียดชังรัฐมาเป็นการให้ความร่วมมือของรัฐ ซึ่งภาครัฐเราจะพยายามดึงสิ่งที่เป็นความเห็นไม่ตรงกันออกไปจากแผ่นดินใต้ เราจะพยายามดูแลทุกท่านด้วยใจเสมือนญาติคนหนึ่ง เราเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ทุกคน ทุกฝ่าย โดยเฉพาะกรมราชฑัณฑ์ ที่ได้ดูแลญาติของท่านเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มญาติผู้ต้องขังคือกลุ่มที่เปราะบางที่สุด วันนี้ เราได้ดูแลกลุ่มเปราะบางทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติ ลดระยะห่าง ลดช่องว่าง ญาติของกลุ่มคนที่เป็นผู้กระทำ ไม่ควรจะเป็นผู้กระทำต่อไปอีก ซึ่งจะสร้างให้เกิดวงจรความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น แต่กลุ่มญาติที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงซึ่งอาจจะเกิดความรู้สึกใดใดก็แล้วแต่ที่อาจจะมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบ้านเมือง อาจจะด้วยตัวเองหรือการให้ข้อมูลผิดๆของกลุ่ม ผู้ไม่หวังดี ญาติผู้ต้องขังมิใช่ผู้กระทำผิด เค้าเหล่านี้จึงต้องได้รับการดูแล และไม่ควรมีใครหรือสมาชิกในเครือญาติที่วนกลับเข้าไป ในวังวนนี้อีก สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างพลังเพื่อวันใหม่เพื่อทำให้พลังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงมันแผ่วเบาลงไป ส่วนหนึ่ง ก็คืออาจจะเป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ซึ่งก็ต้องดำเนินการรับโทษตามกฎหมาย อันที่สองครอบครัวก็สูญเสียพลังไป มีความลำบาก รู้สึกหดหู่ คับแค้น มันทำให้พลังต่างๆสูญเสียไปมาก ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะไปยังไงต่อ
วันนี้เราก็เลยมาเสริมพลัง สร้างพลัง อย่างน้อยก็พาให้ท่านมาพบกัน ลดระยะห่าง จากที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้พบกัน จะได้คุยกัน พาท่านมาส่วนหนึ่ง ต่อไปก็หาช่องทางอื่น จะเป็นจดหมาย จะเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จะเป็นวีดีโอคอล จะเป็นแบบไหน เพื่อลดระยะห่าง เพิ่มความถี่ เพื่อพบหน้ากัน ได้เห็นหน้าตา ได้สื่อสารกัน เพื่อสร้างพลังของคนในครอบครัวต่อไป และในหมู่เพื่อนฝูง ในสังคมเดียวกัน ได้เสริมพลัง มีวิทยากรมาจัดกิจกรรมในรอบ 5 คืน 6 วัน เป็นการสร้างพลังทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดเราคิดว่าเมื่อเราทำสิ่งนี้แล้วจะทำให้คนมีกำลังใจมากขึ้น ตัดวงจรของความคับแค้นต่างๆ ให้ลดน้อยลงและ พร้อมที่จะก้าวสู่วันใหม่ สร้างพลังเพื่อวันใหม่ เพื่อวันใหม่ก็คือคนที่อยู่ข้างใน อยากให้พร้อมที่จะกลับมาแล้วเริ่มต้นในชีวิตใหม่ เป็นพลเมืองดี สร้างสังคมสู่วันใหม่ที่ดี ได้มีโอกาสในการทำมาหากิน ได้เรียนหนังสือ มีชีวิตที่ดี มีรายได้ ต่อไปนี้เราจะร่วมกันทั้งหมดเพื่อสร้างพลังเพื่อวันใหม่
การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 ได้ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียชีวิตทรัพย์สิน เกิดความไม่มั่นคงปลอดภัยในการดํารงชีวิต ส่งผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในบางสถานการณ์เด็กและสมาชิกในครอบครัว เกิดภาวะเครียด รุนแรงฝังใจ ส่งผลต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติในสังคม เด็กและเยาวชนต้องเผชิญกับความสูญเสียเสาหลักของครอบครัว สมาชิกครอบครัวเกิดภาวะคับแค้นใจ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต
รัฐบาลสนับสนุนให้ ศอ.บต. เร่งดําเนินการที่เกี่ยวข้องในห้วงของการเปลี่ยนผ่านกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ให้นําไปสู่สันติสุขอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้น การส่งเสริมการอำนวยความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ กาารสนับสนุนการนำยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม รัฐให้การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เหยื่อ หรือครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป้าหมายกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ในการชดเชยและเยียวยาผู้ ได้รับผลกระทบ ทุกกลุ่มเป้าหมาย ถือเป็นหัวใจสําคัญที่จะลดความคับข้องใจ ซึ่งเป็นรากเหง้าของ ความขัดแย้งลงได้ สําหรับผู้กระทําความผิด และตกเป็นผู้ต้องขังในคดีความมั่นคง รวมถึงครอบครัวก็ เช่นเดียวกัน ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนโลกทัศน์ใหม่ในการอยู่ร่วมกัน อย่างเสมอภาคเป็นธรรม ชี้แนะการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี เพื่อให้การใช้โอกาสที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจําของรัฐ ได้มีโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น ด้วยการ บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่น ต่อการทำงานของรัฐที่มุ่งเร่งรัด พัฒนา นําความสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้