สิงห์บุรี – วัดหัวว่าว อนุรักษ์เชิงตะกอนแบบโบราณอายุเกือบ 60 ปี เป็นป่าช้าเก่าที่เคยร่ำลือว่ามีผีดุที่สุดในสิงห์บุรี
วันที่ 3 ก.พ. 64 ที่ วัดหัวว่าว หมู่ที่ 4 ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ยังพบเชิงตะกอนเผาศพสมัยโบราณซึ่งมีลักษณะเป็นฐานก่ออิฐสูงขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้ามีบันได 4 ขั้น โดยเว้นตรงกลางเอาไว้ใส่ฟืน และนำเส้นเหล็กมาวางขวาง จำนวน 3 เส้น เพื่อเป็นที่รองรับโลงศพบนเชิงตะกอน ก่อนจะทำการจุดไฟที่กองฟืนใต้โลง ที่ทางวัดหัวว่าวยังคงอนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระครูวิชาญ พัฒนกิจ หรือ หลวงพ่อบุญชู เป็นเจ้าอาวาส ประมาณปี 2507 โดยหลวงพ่อบุญชู เป็นพระที่โด่งดังถือเป็นหนึ่งในสุดยอดเกจิของจังหวัดสิงห์บุรี เป็นพระที่คงวิชา ทั้งพระเวทย์วิทยาคม และสมถวิปัสสนากรรมฐาน หนึ่งในพระเวทย์วิทยาคมที่ท่านชำนาญเป็นพิเศษ คือวิธีการทำผงอิทธิเจ แบบพิเศษที่ท่านลบผงเอง พร้อมกับใส่กระดูกผีเจ็ดป่าช้า ลงไปในผงอีกด้วย ผงของท่าน จึงเข้มขลัง แรงด้วยพุทธคุณ และในสมัยก่อนเคยร่ำลือกันว่า วัดหัวว่าว เป็นวัดที่มีผีดุที่สุดในสิงห์บุรีอีกด้วย นับเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ที่เชิงตะกอนของวัดหัวว่าว ได้ผ่านการใช้งานเผาศพมาหลายพันคน ถึงแม้ในเวลาต่อมาจะมีการสร้างเมรุเผาศพใหม่แล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทุบทิ้ง ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้ญาติโยมได้ดูว่า เชิงตะกอนเผาศพในสมัยโบราณนั้นมีความเป็นมาอย่างไร และยังมีรูปปั้นที่สื่อให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิต เช่น รูปปั้น การเกิด การแก่ และการตาย และยังมีรูปปั้นเปรต รูปปั้นพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวก ซึ่งยังคงสภาพที่ดีถึงจะผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน
อีกทั้งทางวัดยังอนุรักษ์ต้นยางกว่า 80 ต้น มีทั้งต้นเล็ก ต้นใหญ่ปะปนกัน ต้นใหญ่หลายสิบต้นมีอายุกว่าร้อยปี ขนาดใหญ่ประมาณ 4–5 คน โอบ ทำให้บรรยากาศดูร่มรื่นแต่ก็ยังดูวังเวงเมื่อทราบว่าที่ตรงนี้เป็นป่าช้าเก่า โดย นายธงชัย พวงแก้ว อายุ 59 ปี เลขที่ 54/1 หมู่ที่ 7 ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นสัปเหร่อมากว่า 20 ปี ได้เล่าว่า สถานที่แห่งนี้เป็นป่าช้าเก่า เมื่อมีคนเสียชีวิตก็จะนำมาประกอบพิธีที่บริเวณนี้ โดยก่อนที่จะสร้างเชิงตะกอนนี้ เวลาเผาศพก็จะใช้การนำศพมาวางไว้บนกองฟืนและทำการเผา ทำให้ก่อภาพศพอุจาดตาที่บางครั้งเคยกระตุกพราดๆ หงิกงอให้เห็น แต่หลังจากที่มีการก่อสร้างเชิงตะกอนเผาศพก็ทำให้ภาพเหล่านี้หายไป มาได้เห็นอีกทีตอนเสร็จพิธี เหลือแค่กองเถ้าอังคารกับเศษกระดูกไม่กี่ชิ้น
นายธงชัย เล่าต่อว่า ในสมัยก่อนคนจะนิยมเดินทางกันโดยทางเรือล่องผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงช่วงหน้าวัดหัวว่าวจะเป็นทางโค้ง บางครั้งมีเรือล่ม มีคนเสียชีวิตก็จะนำมาเผาที่ในวัด ซึ่งเมื่อก่อนบรรยากาศในบริเวณนี้ยามค่ำคืน หรือตอนเช้ามืดที่ชาวบ้านจะต้องใช้สัญจรผ่านเพื่อไปค้าขายหรือไปซื้อของที่ตลาด บางคนเจอเรื่องลี้ลับน่ากลัวก็จะบอกเล่าต่อๆ กัน แต่ในปัจจุบัน การเดินทางมีถนนที่ไม่ต้องผ่านเข้ามาในวัด ชาวบ้านเลยใช้เส้นทางอื่นในการสัญจร แต่ถึงอย่างไรในเวลาพลบค่ำ ก็ไม่ค่อยจะมีใครกล้าผ่านเข้ามาในพื้นที่บริเวณนี้ อาจเป็นเพราะความมืดครึ้มของต้นไม้ที่ปกคลุมทำให้อากาศจะเย็นกว่าตรงที่อื่นเลยดูวังเวง และยังมีชาวบ้านละแวกวัดพูดกันในเรื่องของการพบเจอสิ่งลี้ลับ ถึงแม้ว่าเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางลัดระหว่างหน้าวัดไปหลังวัด แต่ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะเลือกใช้เส้นทางอ้อมออกไปนอกวัดแทน ถึงจะไกลหน่อย แต่ก็อุ่นใจกว่า
ณัฏฐนารา ปานมี ผู้สื่อข่าวประจำ จ.สิงห์บุรี